หนี้ครัวเรือนไทย : แก้ได้แต่จบยาก

นอกเหนือจากความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 แล้ว ปี 2565 นี้ รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือนอีกด้วย โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 64 อยู่ที่ประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก

แต่เราจะแก้หนี้ครัวเรือนได้อย่างไร ปัญหาอุปสรรคคืออะไร แก้ได้แต่จบยากจริงหรือไม่ ในบทความ “เป็นหนี้จนถูกดำเนินคดี ข้อจำกัดด้านกฎหมายไทย และแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” ของ “ประภัสสร เพ็งน้อย” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และ “พลอยสี ตันนิรันดร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า

หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาใหญ่ใกล้ตัวที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

และเมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่สำคัญของหนี้ครัวเรือนเกิดจาก 2 ฝั่ง คือ ฝั่งครัวเรือน ที่จำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน ครัวเรือนบางส่วนไม่มีความรู้ทางการเงินและสินเชื่อ รวมถึงขาดการวางแผนทางการเงิน ในขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการทางการเงินก็แข่งขันกันให้สินเชื่อ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายผ่านการตลาดที่จูงใจ ทำให้ประชาชนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น หรืออาจได้รับสินเชื่อเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง ครัวเรือนจึงตัดสินใจก่อหนี้ง่ายขึ้นอย่างไรก็ดี การเป็นหนี้ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้นั้นไม่น่ากังวล แต่หากก่อหนี้จนล้นพ้นตัว จะนำมาสู่วังวนของปัญหาหนี้ที่ยากต่อการแก้ไข และนำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในที่สุด

และที่น่าสนใจไปว่านั้น คือ ในช่วงที่ผ่านมา กฎหมายและเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในประเด็นด้านกฎหมาย ขณะที่การกำกับดูแลในส่วนของ ธปท.ก็ยังไม่ครบคลุม ใน 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การปล่อยให้อายุความในการฟ้องหรือระยะเวลาในการบังคับคดีใกล้ครบกำหนด  ซึ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้เจ้าหนี้ฟ้องดำเนินคดีหรือขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันเพื่อเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระเงินคืน ขณะที่ลูกหนี้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาจยิ่งทำให้การแก้ไขหนี้เป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่ผิดนัดชำระ

ขณะที่เรื่องที่ 2 คือ ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ แม้ว่าหนี้จากการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นสัดส่วนสำคัญของหนี้ครัวเรือนไทยในแง่ปริมาณ เพราะมีจำนวนมากแต่ปัจจุบันมีเพียงสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาเท่านั้น จึงอาจเกิดช่องโหว่จนสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับลูกหนี้ได้

และเรื่องที่ 3 ที่เป็นข้อจำกัดในการดูแลหนี้ครัวเรือน คือ การไม่มีหน่วยงานกลางที่จัดเก็บข้อมูลภาระหนี้ของลูกหนี้อย่างครบถ้วน เพราะผู้ให้บริการทางการเงินบางส่วน เช่น สหกรณ์ หรือ non-bank หลายราย ไม่ได้เป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau: NCB) อาจทำให้ข้อมูลหนี้ตามรายงานต่ำกว่าภาระหนี้จริงของลูกหนี้ จึงยิ่งทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าว ได้ติดตามการแก้ไขหนี้ครัวเรือนในต่างประเทศ ด้วยว่าทำอย่างไร ซึ่งพบว่าในหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นตัวกลางทำหน้าที่ช่วยจัดทำแผนการแก้ไขและเจรจาหนี้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับไกล่เกลี่ยหนี้อย่างเป็นระบบ

ประเทศมาเลเซีย จัดตั้งองค์กรกลางที่ชื่อว่า Agensi Kaunseling Dan Pengurusan Kredit (AKPK) เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของลูกหนี้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ 1.dkiให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ และการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีในทุกช่วงอายุของประชาชน  2.ให้คำแนะนำด้านการเงิน วิเคราะห์สถานะการเงิน การบริหารเงินและบริหารหนี้ รวมถึงด้านสินเชื่อ และ 3. ให้คำปรึกษาจัดทำแผนการชำระคืนหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และช่วยหารือร่วมกับสถาบันการเงินโดยลูกหนี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด 

ประเทศสิงคโปร์ ผลักดันให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องสำคัญและประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยจัดให้มีการระงับข้อพิพาทออนไลน์ ซึ่งสามารถยื่นเรื่องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทั้งการไกล่เกลี่ยผ่านศาลที่ศูนย์ระงับข้อพิพาทชั้นต้น(PDRC) การไกล่เกลี่ยผ่านศูนย์ไกล่เกลี่ยเอกชน (SMC) และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน (CMC)

ขณะที่ประเทศอังกฤษ สนับสนุนให้มีหน่วยงานกลาง (qualified IP) เพื่อช่วยลูกหนี้ประเมินสถานการณ์ด้านการเงินในการจัดทำข้อตกลงการชำระหนี้และเจรจากับเจ้าหนี้ โดยหากลูกหนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนเจ้าหนี้จะไม่สามารถทวงหนี้ หรือบังคับเอาทรัพย์สินอื่นได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลูกหนี้ดำเนินการด้านศาลเพื่อยับยั้งการฟ้องคดีหรือการบังคับคดี ระหว่างที่ลูกหนี้ขอคำปรึกษาด้วย

ขณะที่ประเทศไทยเรา ธปท.ได้ผลักดันให้เกิด “ตัวกลาง” ที่จะมาดูแลและไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ครัวเรือนของลูกหนี้ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ ในปี 2560 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่เป็นหนี้เสีย ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยผ่อนชำระด้วยเงื่อนไขมาตรฐานกลางที่ได้ตกลงกันไว้

ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับหนี้ทุกสถานะ รวมทั้งการไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือถูกศาลตัดสินไปแล้วด้วย

นอกจากนั้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ยังต้องวางรากฐานสำคัญให้กับเจ้าหนี้ในด้านการให้บริการสินเชื่ออย่างเป็นธรรม รวมทั้งออกมาตรการเพื่อลดโอกาสการเป็นหนี้ถาวร และเสริมความแข็งแกร่งด้านความรู้ทางการเงินให้กับลูกหนี้ การออกมาตรการสนับสนุนให้ลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้ยาวนาน ผ่อนชำระแล้วแต่ภาระหนี้ไม่ลดลงให้ได้รับการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถ

ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถช่วยให้ลูกหนี้ส่วนหนึ่ง “จบ”ปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ แต่ไม่ใช่หนี้ทั้งหมด รวมทั้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกู้หนี้ยืมสินใหม่ได้ ในภาวะที่คนไทยมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายในปัจจุบัน

โดยในบทความดังกล่าว ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “มาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งหมดที่เรามี ยังคงเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ที่อยู่ในระบบ แต่ครัวเรือนยังมีหนี้อีกจำนวนมากอยู่นอกระบบซึ่งส่วนใหญ่มีดอกเบี้ยสูง สามารถกู้ได้ง่าย ไม่ต้องมีเอกสารและขั้นตอนยุ่งยากเหมือนสถาบันการเงิน ครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบจึงออกจากวังวนหนี้สินได้ยาก” การแก้หนี้ครัวเรือนไทยให้จบได้จริงๆ นั้น จึงไม่ใช้การปรับโครงสร้างหนี้ในระบบให้สามารถกลับมาผ่อนชำระได้เท่านั้น แต่ต้องจบหนี้ในระบบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่กลับมาเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นอีก และขณะเดียวกันจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย หากเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สุดท้ายครัวเรือนก็จะจมกองหนี้ 

และอีกส่วนที่สำคัญ นอกจากนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพเพื่อลดการก่อหนี้ใหม่ลง เร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการ upskill & reskill เพื่อปิดช่องว่างทักษะแรงงานที่จำเป็นในอนาคต