หนาวนี้ โควิด-19 ยังไม่ทันหาย PM2.5 ก็กำลังจะมา… กทม. ชวนโหลดแอป “AirBKK” เช็คค่าฝุ่น



  • หลังพบว่าช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ. ฝุ่นเกินมาตรฐานทุกปี
  • ผุดมาตรการลดฝุ่น 12 ข้อ และ 3 มาตรการลดผกระทบต่อสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยระบุว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ของทุกปี พบว่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองฯ คือ การขนส่งและการใช้รถยนต์บนถนน

ดังนั้นกทม. ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง 12 มาตรการควบคุม และ 3 มาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้ 12 มาตรการควบคุม ประกอบด้วย 1. เข้มงวดการตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท 2. ประสานจัดการจราจรให้คล่องตัว 3. รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง 4. หมั่นดูแลรักษาเครื่องยนต์ 5. ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน 6. ใช้นโยบาย Work from Home

7. เข้มงวดตรวจสอบสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน 8. ควบคุมบริเวณก่อสร้างให้มีรั้วทึบโดยรอบ 9. คุมเข้มให้มีผ้าใบคลุมการก่อสร้างให้มิดชิด 10. กำชับให้มีการล้างล้อรถก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง 11. ฉีดน้ำทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน และ12. ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือเผาในที่โล่งทุกประเภท

ส่วน 3 มาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ 1. รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศและแจ้งเตือน 2. การลดผลกระทบต่อสุขภาพโรงเรียน 3. การแจกหน้ากากอนามัย

ปัจจุบัน กทม. ได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 50 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต และอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเติมในสวนสาธารณะของ กทม. จำนวน 20 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้

สำหรับปี 2563 กทม. ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยดำเนินโครงการส่องรถยนต์ควันดำ ตรวจวัดมลพิษที่อู่หรือท่าปล่อยรถโดยสารประจำทาง และโครงการถนนอากาศสะอาด เพื่อสร้างเครือข่ายและบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินกิจกรรม ควบคุมมลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ยังได้จัดทำแอพพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศของ กทม. AirBKK โดยสามารถ แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ ระยะเวลาที่สามารถอยู่ได้ในแต่ละพื้นที่อย่างปลอดภัยจากผลกระทบของปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงและป้องกันตนเองในเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ android และ IOS