สูงวัยติดโควิด ยึด 10 แนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

  • กรมอนามัย แนะผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้สูงอายุ
  • ติดเชื้อแยกกักตัวอยู่ที่บ้านHome Isolation (HI)
  • ให้ยึด 10 แนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) เพื่อสังเกตอาการได้ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อที่มีอายุไม่เกิน 75 ปีบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ที่กระทรวงสาธาณสุขกำหนดแล้วก็สามารถกักตัวที่บ้านได้โดยขอให้ยึด10แนวทางปฏิบัติดังนี้
1. แยกรับประทานอาหาร และแยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่นภายในบ้าน
2. งดออกจากบ้านพักตลอดเวลา
3. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น กรณีไม่สามารถแยกได้ ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดทุกครั้งและทำความสะอาดจุดสัมผัส เช่น ปุ่มกดชักโครก ก๊อกน้ำ และบริเวณอื่น ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที
4. ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ต้องพบหรือพูดคุยกับญาติ และผู้ดูแล รวมถึงต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
5.งดให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านขณะแยกกักตัว
6.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอก แล้วตากแดดให้แห้ง
8. แยกล้างภาชนะบรรจุอาหารด้วยน้ำและน้ำยาล้างจาน
9. ทิ้งขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระในถุงขยะสีแดง และปิดปากถุงให้แน่น แต่ในกรณีที่ไม่มีถุงขยะสีแดง ให้เขียนกำกับบนถุงให้ชัดเจนว่า“ขยะติดเชื้อ”แล้วแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ กรณีเป็นขยะที่ไม่สัมผัสสารคัดหลั่ง ให้เช็ดหรือราดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้
10. แยกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วยหรือตรวจพบเชื้อ

สำหรับญาติของผู้สูงอายุติดเชื้อที่ต้องแยกกักตัวที่บ้าน ต้องเฝ้าติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮฮล์เป็นประจำ ส่วนการจัดส่งอาหารและน้ำดื่ม อาจใช้วิธี แขวนที่ลูกบิดประตูห้องที่มีความสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ทั้งนี้ ให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อหรือญาติ คอยสังเกตอาการผู้สูงอายุ โดยวัดอุณหภูมิ และ oxygen saturation ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้อยู่ที่  96 – 100 เปอร์เซ็นต์ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที