“สุริยะ” ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพันธ์ุอ้อย ในอาเซียน

  • “ สุริยะ” พบชาวไร่อ้อยจังหวัดกาญจนบุรี
  • พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย
  • ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อยในอาเซียน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการ  ลงพื้นที่พบเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ที่จังหวัดกาญจนบุรี และตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC) เพื่อเยี่ยมชม การสาธิตกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย และการปลูกอ้อยแบบอัจฉริยะ (Sugarcane Smart Farming) ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อย ในอาเซียน

 ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้มากนัก รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดีที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากในอดีตการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อย ต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี  ทำให้มีพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกปลูกไม่มาก บางพันธุ์เริ่มเสื่อมสภาพพบปัญหาการสะสมของโรคและแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใบขาวของอ้อย หากเกิดการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยโดยรวมของประเทศและรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็จะลดลง

 ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เข้าไปจัดตั้งศูนย์ TSBC ที่  อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของอาเซียน  ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับโลก เป็นการสร้างและรวมเครือข่ายงานวิชาการด้านอ้อยของไทย และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ เพื่อช่วยลดรอบเวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้รวดเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี ให้เหลือเพียง 6 – 8 ปี โดยนำเอาระบบเทคโนโลยีชีวภาพและชีวโมเลกุลเข้ามาพัฒนาการเพาะปลูกและผลิตอ้อยแบบครบวงจร  ได้แก่ การใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ การจับคู่ผสม การคัดเลือกพันธุ์อ้อยด้วยระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) และกระจายอ้อยลูกผสมไปปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตการปรับตัวและการให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อย ที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งระดับความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย