“สุพัฒนพงศ์” เผยไร้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูบินไทย ให้การบ้านศึกษาโครงสร้างหนี้-ทุน-ความสามารถชำระหนี้ต่อ

  • เร่งสรุปแผนฟื้นฟูภายในเดือนก.พ.นี้
  • ผู้จัดทำแผนและที่ปรึกษาแผนฟื้นฟูคิดต่างกันเรื่องปกติ
  • เพิ่มทุน-ลดต้นทุนหรือไม่ต้องรอดูแผนฟื้นฟูก่อน

วันที่ 9 ก.พ.2564 นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ได้เข้ามาฟังความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI  โดยขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู โดยได้ให้การบ้านไปศึกษาต่อในส่วนของโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน  และความสมเหตุสมผลของความสามารถในการชำระหนี้ของการบินไทย  

ทั้งนี้ในเบื้องต้นที่ปรึกษาแผนฟื้นฟูเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งในฐานะที่รัฐเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องทำให้รอบคอบ อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกันอีกครั้งภายในเดือนก.พ.นี้  ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจน  โดยยืนยันว่าจะเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายทันกำหนดแน่นอน

ส่วนการบินไทยจะสามารถหลุดจากสถานะขาดทุนภายใน 2 ปีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟู เพราะถ้าเจ้าหนี้เห็นชอบแสดงว่ามีโอกาส แต่ต้องดูเงื่อนไขการออกจากแผนด้วย

“ต้องยอมรับว่ารัฐเองอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รวมกันด้วยและทางรัฐบาลก็ห่วงใยว่ายังมีหนี้ของหุ้นกู้อยู่ ทั้งในภาคประชาชนและสหกรณ์ ดังนั้นจึงอยากเห็นความมั่นใจของแผนฟื้นฟูหลังจากได้ทำการบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว ผู้จัดทำแผนก็นำมาเสนอในครั้งแรก ก็จะฟังดูว่าจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรเพราะสุดท้ายแผนฟื้นฟูจะถูกโหวตโดยเจ้าหนี้  ซึ่งจะต้องมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับชำระการคืนหนี้ตามความเหมาะสมสำหรับแผนฟื้นฟูบินไทยในจะต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 12 มี.ค.2564 และส่งให้เจ้าหนี้ดู”

ส่วนกรณีผู้จัดทำแผนและที่ปรึกษาแผนฟื้นฟูมีความคิดเห็นแตกต่างกัน นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าวว่า ผู้จัดทำแผนมีหน้าที่ตามกฎหมาย เพียงแต่ต้องพิจารณาดูว่าแผนนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา  โดยคาดหวังว่าจะได้แผนฟื้นฟูที่ออกมาและเป็นที่ยอมรับของเจ้าหนี้ ซึ่งจะเป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบแผนก่อนไปยื่นศาลอีกที

“การเพิ่มทุนในบินไทยหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ต้องดูแผนก่อนว่ามีการเพิ่มทุนหรือไม่ ส่วนการลดต้นทุนยังตอบไม่ได้ว่าจะลดเท่าไหร่ แต่ทุกสายการบินก็คงต้องทำเพราะจะอยู่แบบนี้ไม่ได้หรอก  บินไทยเองมีผู้เชี่ยวชาญ มีที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดูซึ่งจะเห็นการบริหารจัดการของสายการบินทั่วโลกอยู่แล้วว่าเขาทำอย่างไร เพื่อให้สายการบินเข้มแข็งหลังจากโควิดหมดไป”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังคงสัดส่วนถือหุ้นในการบินไทยไว้ตามเดิมหรือไม่ ต้องดูแผนฟื้นฟูก่อนว่าน่าสนใจไหม ส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ให้ไปถามกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตามมองว่าถ้าหากจะทำแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ ก็อาจจะต้องให้การบินไทยเป็นเอกชน