“สาธารณสุข” ขับเคลื่อน Digital Healthcare ยกระดับการให้บริการประชาชน

  • ลดความแออัด -ความเหลื่อมล้ำ
  • พร้อมต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลการฉีดวัคซีนกับหน่วยงานต่างๆ บนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม
  • เพื่อให้เปิดกิจการ กิจกรรม ได้อย่างปลอดภัย

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุม การประชุมระดับชาติด้านเวชสารสนเทศ ครั้งที่ 10 และการประชุมวิชาการสมาคมเวชสารสนเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2564 ว่า ภายใต้แนวคิด “การปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพสู่ยุคดิจิทัลในวิกฤตโรคระบาด” (Healthcare Digital Transformation in Pandemic Era) โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ เวชสารสนเทศ ในการพัฒนาองค์กร ยกระดับการให้บริการ บริหารจัดการระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนมาประมวลผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด สะดวก รวดเร็ว เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ทั้งยังช่วยลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการ นอกจากนี้ ยังต่อยอดนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แขนงต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น แนวทางการให้รหัสโรคด้านหัตถการ อายุรกรรม ทันตกรรม เป็นต้น โดยงานเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาลจะต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกโจมตีและเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างผิดกฎหมาย รวมถึงพัฒนาคุณภาพข้อมูลให้นำมาใช้อ้างอิงและวางแผนการจัดการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การนำระบบระบบปฏิบัติการ AI เข้ามาใช้ จะส่งเสริมให้การจัดระบบบริการมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รองรับการรักษาและดูแลสุขภาพประชาชนในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 Digital Healthcare ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นจนเกิดเป็นความเป็นปกติใหม่ (New Normal) ทั้ง ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การส่งยาให้ผู้ป่วยบางโรคถึงบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล ป้องกันการรับและแพร่เชื้อโควิด 19 ที่เด่นชัดและถือเป็นความสำเร็จของระบบสาธารณสุขประเทศ คือ ความร่วมมือในการเชื่อมต่อและบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลทุกสังกัดเป็นหนึ่งเดียวทำให้สามารถรองรับและดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมตามระดับอาการ มีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการฉีดวัคซีน ใน “หมอพร้อม” และ Digital Health Pass เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ช่วยลดการพกพาเอกสารหลายฉบับ มีความปลอดภัยในการแสดงข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานในระดับสากล จากนี้จะต่อยอดให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการฉีดวัคซีนให้สามารถเข้าถึงระบบ บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้สามารถเปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ประชาชนใช้ชีวิตได้เป็นปกติที่สุด สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณสุข