สาธารณสุขประกาศหลักเกณฑ์ให้คำปรึกษาและทางเลือกยุติตั้งครรภ์แล้ว-แก้ปัญหาทำแท้งผิดกฎหมาย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยเผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย. 65 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้วางแนวปฏิบัติรองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

“ตามประกาศฯ ได้กำหนดขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือก โดยหญิงซึ่งมีอายุครรภ์ตามกำหนดสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก (ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป) เพื่อเข้ารับคำปรึกษาโดยจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยหากหน่วยบริการฯ ตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์แล้ว พบว่า 1. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้คำปรึกษาทางเลือก  2. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา 3. อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการฯ ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศฯ ได้วางหลักการให้คำปรึกษา เช่น การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์ การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับ การรักษาความลับ ซึ่งให้การให้คำปรึกษาต้องดำเนินการโดยเร็วและคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์  ถือเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการทำแท้งผิดกฎหมายด้วย