สศค.ลุ้นตัวโก่งเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8 %

  • ชี้บริโภคภายในประเทศเริ่มดี
  • มาตรการกระตุ้นมีเงินลงระบบ8หมื่นลบ.
  • การท่องเที่ยวขยายตัวมากสุดรอบ19เดือน

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษกสศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจในไทยในปี 2562 ที่สศค.ประเมินว่าจะเติบโต 2.8% นั้นเป็นไปค่อนข้างยาก โดยคงต้องติดตามภาคการส่งออกว่าจะเป็นไปตามที่สศค.คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 2.5% หรือไม่ โดยหากอยากให้เศรษฐกิจทั้งปีเติบโตถึง 2.8% เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะต้องเติบโตถึง 3% เศรษฐกิจไทยปีนี้ถึงจะมีลุ้น

อย่างไรก็ตามขณะนี้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศดีขึ้น และมาตรการที่รัฐบาลออกมาล่าสุดน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นถ้าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีไม่ได้หดตัวไปมากกว่าที่ประเมินไว้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้ถึง 2.6-2.8% ทั้งนี้หากจะให้เศรษฐกิจโต 2.6% เท่าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ประเมินไว้ว่าจะโต 2.6% เศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาส 4 ต้องโตถึง 2.8% เนื่องจากไตรมาส 3ที่ผ่านมาโต แค่ 2.5%

“ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้าจะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ  80,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากการพักหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 50,000 ล้านบาท และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 27,000-28,000 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้”

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือนต.ค. พบว่าได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ภายในประเทศขยายตัวถึง 6% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวถึง 12.5% สูงสุดในรอบ 19 เดือน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงชะลอตัว ส่วนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1% ต่อปี อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% และสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำเพียง 41.1%

ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคในเดือนต.ค.62 กลับมาขยายตัวดีจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ  โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค ประจำเดือนต.ค. พบว่ายังมีแนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ขยายตัว  โดยเฉพาะภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากภาคเกษตรและภาคการบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ควรติดตามสถานการณ์ด้านการบริการของกทม.และปริมณฑล เนื่องจากมีค่าดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าทุกภูมิภาค