“สรรพากร”จับมือ 160 ประเทศ ขอข้อมูลรายได้อุดช่องโหว่เก็บแวตอี-เซอร์วิส

  • หวังเก็บภาษีบริษัทดิจิทัลต่างชาติได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 
  • ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่าน e-Withholding Tax เหลือ 2%
  • ช่วยความยุ่งยากการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาภาคีสมาชิกเพื่อร่วมบริหารภาษีระหว่างประเทศ (Mutual assistant on tax administration) กับ 160 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อให้กรมสรรพากรแต่ละประเทศ  ส่งข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในประเทศตนเองมาให้กรมสรรพากร เพื่อนำมาประเมินภาษีที่ต้องจัดเก็บหากมีบริษัทต่างชาติ เปิดให้บริการแพลตฟอร์มในไทย 

ทั้งนี้การใช้วิธีนี้จะเป็นการอุดช่องโหว่ ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสหรือ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)จากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ที่มีรายได้จากค่าบริการตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งจะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย เพื่อเสียแวตในอัตรา 7% จากรายได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบังคับใช้

“คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำกรมสรรพากรว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ และถ้าบริษัทดิจิทัลต่างชาติไม่ยอมทำตามกฎหมายที่รัฐบาลออกมาจะทำอย่างไร และจะใช้อำนาจอะไรไปบังคับจัดเก็บภาษี เพราะหลายประเทศแม้จะออกกฎหมายมา แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติได้ทั้งหมด”

ดังนั้นกรมสรรพากรจึงหารือกับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศ และกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(โออีซีดี) ซึ่งหลายประเทศออกข้อบังคับ หรือกฎหมายใหม่มาใช้ในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งกรมสรรพากรเห็นว่าเป็นวิธีที่ดี จึงมีการลงนามเพื่อบริหารภาษีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้กรมสรรพากรเตรียมจะออกประกาศ ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จากเดิมอยู่ที่อัตรา 3% เหลือ 2% ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563 – 31 ธ.ค.2564 โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์  เป็นตัวกลางในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบ e-Withholding Tax ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเก็บหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย ในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป เพราะธนาคารจะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยตรง

ทั้งนี้การหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยวิธีนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและบริษัทต่างๆ เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะเก็บหลักฐานการเสียภาษีไม่ครบ เพราะข้อมูลจะถูกบันทึกอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ธนาคารส่งมาได้ผ่านระบบตลอดเวลา ทำให้กระบวนการคำนวณภาษีและการจ่ายภาษีคืนรวดเร็วขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่ากระดาษที่ต้องปริ้นเป็นจำนวนมาก จากเดิมหากไปใช้บริการการเงินที่ธนาคาร จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งธนาคารจะต้องปริ้นใบหักภาษี ณ  ที่จ่าย มาให้ผู้ใช้บริการเก็บไว้ เพื่อนำไปยื่นกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีช่วงท้ายปี ซึ่งประชาชนบางรายอาจทำหาย หรือบางรายเมื่อถึงเวลาชำระภาษี อาจลืมว่ามีใบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอยู่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์แล้วกว่า 90% เหลืออีกจำนวน 10% ที่ยังส่งแบบชำระภาษีรูปแบบเดิมอยู่ ส่วนในปีนี้กรมสรรพากรคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วประมาณ 2.8 ล้านราย คิดเป็น 95% ของจำนวนผู้ที่ขอคืนภาษี 2.91 ล้านแบบ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลกรมสรรพากรคืนภาษีไปแล้วกว่า 28,000 ล้านบาท