สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตกรรมชุมชนภาคเหนือ

  • ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ
  • พระราชทานคำแนะนำ เพื่อยกระดับผ้าไทย
  • ให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นธรรมชาติและการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 65 เวลา 13.00 น. ที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และงานหัตกรรมชุมชนภาคเหนือ ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ถวายรายงาน และกลุ่มทอผ้า เฝ้ารับเสด็จ

ในการเสด็จครั้งนี้ ทรงทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการต่าง ๆ ประกอบด้วย นิทรรศการจากกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจก บ้านหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน นิทรรศการกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านไม้ตะเคียน อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน นิทรรศการกลุ่มจันทร์ศรี อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน นิทรรศการกลุ่มมาลีผ้าฝ้าย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน นิทรรศการจากกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ บ้านหนองเงือก พร้อมพระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยเล่มที่ 2 แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP และพระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกศิลปาชีพ จำนวน 13 กลุ่ม เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ เพื่อยกระดับผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นธรรมชาติและการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับและความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพระราชทานคำปรึกษาแก่กลุ่มทอผ้าที่เฝ้ารับเสด็จ จำนวน 50 กลุ่ม เพื่อยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยร่วมให้คำแนะนำด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นความโชคดีของคนไทย ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่และมุ่งมั่น ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น ด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ และที่เป็นความตื้นตันใจ เป็นที่ชื่นอกชื่นใจ ทำให้เกิดแรงกล้า แรงศรัทธาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าของช่างทอผ้ากลุ่มต่าง ๆ นั่นคือการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาแนวทางเพื่อพัฒนารูปแบบ ลวดลาย ผ้าไทย ให้มีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด โดยทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำ คำปรึกษาให้กับกลุ่มช่างทอผ้าโดยไม่ถือองค์เอง พระหัตถ์ที่ทรงสัมผัสกับเนื้อผ้าแต่ละผืน แต่ละลวดลาย ล้วนแสดงถึงความใส่พระทัยและความตั้งพระทัยมั่นที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรมผ้าทอไทยของประชาชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ยังความตื้นตันใจและความสำนึกในพระมหากรุณา เป็นการปลุกพลังช่างทอผ้าในการสนองพระดำริด้วยการมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนางานให้เกิดการเพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่า โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าแต่ละท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

สำหรับการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในวันนี้ มีจำนวน 50 กลุ่ม จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สูงอายุ บ้านก้อทุ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีความโดดเด่นในการทอผ้ายกดอกจากฝ้ายสามสี ซึ่งฝ้ายที่นำมาทอ เป็นฝ้ายที่ปลูกในชุมชน ปลอดสารเคมี นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ และกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน กลุ่มลำพูนไหมไทย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีการเพิ่มมูลค่าของผ้าโดยการปักดิ้นที่ละเอียดและใช้เวลา ด้วยวิธีแบบโบราณ ผ้าไหมยกดอก จากกลุ่มดารณีไหมไทย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีการพัฒนาผ้าไหมยกดอก ให้มีความหลากหลายโดยใช้สีธรรมชาติย้อม การทอประณีต เป็นอัตลักษณ์ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าซิ่นตีนจกลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โดยนางสาวนราภรณ์ เกิดผล อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเทคนิคในการทอ โดยทอด้วยมือใช้ขนเม่นจกควักล้วงทำให้เกิดลวดลาย ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ้าจกไหมแต้มตะกอ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ผ้าซิ่นตีนจกวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านโคกหม้อ ใช้เทคนิคการแจะหมี่ หรือการแต้มสีที่ลายมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ยังคงรักษาไว้ นอกจากนี้ยังมีการคิดและปรับรูปแบบผ้าจากการทอผ้าตีนจก ลายขวางเส้นยืน ออกแบบลายใหม่เป็นผ้าจกไหมทั้งผืน ที่มีลายไปตามเส้นยืนเป็นอัตลักษณ์ผ้าจกไหม “แต้มตะกอ”

ดร.วันดี กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เพื่อนำไปมอบให้กับช่างมอผ้าฯ ตามพระประสงค์ และในขณะนี้จังหวัดต่าง ๆ ได้มีการจัดพิธีมอบแบบลาบผ้าพระราชทานฯ ให้แก่ช่างทอผ้าแล้ว

ทั้งนี้ลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดย “ลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S” หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ด้านตัวแทนกลุ่มช่างทอผ้า ได้กล่าวถึงความรู้สึกภายหลังการรับเสด็จในครั้งนี้ด้วยความตื้นตันใจว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จมาทอดพระเนตรผลงานที่พวกเราตั้งอกตั้งใจในการทอผ้า สร้างสรรค์ลวดลายให้มีความสวยงามตามลายของหมู่บ้านเรา ที่ทำกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ซึ่งพระองค์ท่านไม่ถือพระองค์เองเลย ทรงหยิบผ้ามาทอดพระเนตร แล้วพระราชทานคำแนะนำให้เราได้ไปพัฒนาต่อยอด ทั้งเรื่องการน้อมผ้าเฉดสีต่าง ๆ การใช้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานกับความสมัยใหม่ และการออกแบบชุดที่เข้ากับวัยรุ่น เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่พระองค์ท่านพระราชทานแบบลายผ้า ตั้งแต่ผ้าลายของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น ทำให้ยอดการจำหน่ายผ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แทบจะทอผ้ากันไม่ทันเลยทีเดียว นับเป็นพระมหากรุณาที่หาไม่ได้อีกแล้ว และจะเร่งพัฒนา ตามที่พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำ เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นกว่านี้ และจะขอโทษทูลพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ให้เกิดความยั่งยืนกับบ้านของเราตลอดไป