“สมคิด”สั่งอุตสาหกรรม ลุยนโยบายยกระดับสินค้าเกษตร

  • ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรหนุนให้เกิดสตาร์อัพ
  • พร้อมดูพื้นที่ตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายนอกเหนืออีอีซี

 นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ดูแลอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้นและให้ยกเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะดำเนินงานของกระทรวงฯที่จะต้องหาแนวทางให้มีความสามารถในการเข้าไปพัฒนาเกษตรกรและไปทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) โดยใช้งบประมาณจากภาครัฐเข้าไปสนับสนุน

ทั้งนี้เหตุผลที่ประเทศไทยต้องปรับแผนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เน้นกลุ่มเกษตรกรรมเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ในขณะนี้ประเทศไทยมีการลงทุนจำนวนมากแล้ว และทุกครั้งที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประทศไทยก็ได้ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของกลุ่มยานยนต์จนก้าวหน้าไปสู่ระดับโลกแล้ว

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญช่วยผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการเกษตรแต่ก็เข้าใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีประสบการณ์น้อยมากในเรื่องนี้ จึงต้องไปจับคู่และดำเนินการไปพร้อมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่างด้านการเกษตรคือ ธ.ก.ส. เป็นต้น

 ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง เมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ได้แล้วเสร็จจะได้เริ่มเดินหน้าบริหารได้เต็มที่จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในเร็วๆนี้ตนก็อยากให้มีแผนงานในเรื่องของ ความคืบหน้าการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพผ่านไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ตที่ได้ตั้งป้าหมายปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ50 รายภายในปีนี้ ด้วยทุนเริ่มต้น500 ล้านบาทและในส่วนของธพว. ก็สั่งการให้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้จัดกลุ่มเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มเติม

สำหรับการพัฒนาเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) จะต้องไปดูความเหมาะสมของพื้นที่ในการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆนอกเหนือจากพื้นทีพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และต้องจัดหาที่ดินรองรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ เนื่องจากบทบาทที่สำคัญของกนอ. ในอนาคตคือการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของรายย่อย