“สนั่น”ประธานหอการค้าไทยระดมสมองร่วม “40 ซีอีโอ”

.วางแผนหนุนรัฐกระจายฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยเร็ว

.หลังพบสุดอืดเพิ่งฉีดได้แค่ 0.4% ของคนทั้งประเทศ

.หวังเร่งเปิดประเทศ-เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมาย

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ เพื่อสนับสนุนภาครัฐให้เปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วว่า  ภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ การฉีดวัคซีนของไทยยังล่าช้ามากสำหรับการเปิดประเทศ เพราะฉีดได้เพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ถ้าจะเปิดประเทศ ต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน  ดังนั้น ซีอีโอทุกท่านพร้อมช่วยภาครัฐ ส่วนหอการค้าไทย จะเป็นตัวกลางเชื่อมการทำงานของทุกภาคส่วน (Connect the dots) เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย  

สำหรับวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ จะต้องมีการเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่รัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ ในการสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม 

“หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 64 ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว”  

นายสนั่น กล่าวต่อว่า หอการค้าไทย และเครือข่าย ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนของภาครัฐ ได้แก่ 1. ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน โดยจะช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับ กทม. แล้ว ในระยะแรกจะจัดหาพื้นที่ 10 แห่งใน กทม. เช่น สถานที่ของกลุ่มเซ็นทรัล , เอสซีจี , เดอะมอลล์ , สยามพิวรรธน์ , เอเชียทีค , โลตัส , บิ๊กซี , ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปพื้นที่ชัดเจนร่วมกับ กทม.ภายในวันที่ 27 เม.ย.นี้ และในระยะถัดไป จะเพิ่มพื้นที่จัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน 

ส่วนทีม 2 คือ ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีน เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีด ยังไม่ยอมฉีด จึงต้องทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยขณะนี้ภาครัฐกำลังทำระบบ “หมอพร้อม”  คาดจะเสร็จเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่างๆ ที่ประชาชนจะลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น กูเกิล, ไลน์, เฟซบุ๊ก, วีจีไอ, ยูนิวีเวอร์ เป็นต้น 

สำหรับทีมที่ 3 คือ ทีมเทคโนโลยีและระบบ โดยบริษัท  ไอบีเอ็ม จะนำทีมเข้ามาสำรวจ และปรับปรุงกระบวนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทะเบียน ขั้นตอนการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ และสุดท้ายทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล  

“โรงพยาบาลเอกชน ประเมินว่า ยังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีทั้ง 1.โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ 2. ซิโนฟาร์ม และแคนซิโน ของจีน 3.โคแวกซีน ของอินเดีย และ4.สปุตนิก วี ของรัสเซีย ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจะซื้อมาฉีดให้กับพนักงานเอง จากการสำรวจความต้องการของบริษัทต่างๆ พบว่า บริษัทจำนวนมากต้องการซื้อมาฉีดให้พนักงานเอง รวมๆ พนักงานแล้วเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลได้”