สถาบันอัญมณีฯ เผยคนไทยแห่ส่งออกทองคำเก็งกำไร

  • ทำช่วง 3 เดือนแรกปีนี้โกยเงินเข้าประเทศโตเฉียด 700%
  • ส่งผลส่งออกอัญมณีเครื่องประดับพุ่ง 5.4 พันล้านเหรียญฯ
  • คาดแนวโน้มยังโตต่อเนื่องหลังเศรษฐกิจโลก-คู่ค้าฟื้น

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ ไทยส่งออกทองคำ เพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงขึ้นมีมูลค่าถึง 3,588.56 ล้านเหรียญฯ เพิ่มถึง 699.05% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเมื่อรวมทองคำช่วง 3 เดือน มีมูลค่า 5,486.58 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 203.93% แต่ถ้าไม่รวมทองคำ อยู่ที่ 1,898.03 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 39.96% ส่วนเดือน มี.ค. มูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้รวมทองคำอยู่ที่ 3,408.93 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 341.39% เทียบเดือนมี.ค.64 แต่ถ้าไม่รวมทองคำ อยู่ที่ 739.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 37.01%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ จากการทยอยเปิดเมือง ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น และยังมีการขยายตัวของการลงทุนเพื่อเพิ่มระดับสินค้าคงคลัง รวมถึงมีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรจากราคาตลาดโลกที่สูงขึ้น

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 46.48%, อินเดีย เพิ่ม113.98%, ฮ่องกง เพิ่ม 14.77% จากปีก่อนที่ชะลอมาโดยตลอด, เยอรมนี เพิ่ม 7.97%, สหราชอาณาจักร เพิ่ม88.29% เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เพชรก้อน เพชรเจียระไนพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม เป็นต้น

“คาดว่าแนวโน้ม จะยังดีขึ้น เพราะหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ มีการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเดินทาง ท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ยังคงต้องจับตาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นแรงกดดันทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าหลายกลุ่มสูงขึ้น และทำให้เงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งต้องติดตามผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังไม่คลี่คลาย”