“ศักดิ์สยาม”เดินหน้าขยาย”สุวรรณภูมิ”สร้างเทอร์มินัล 2 – ต่อขยาย อาคารตะวันออก-ตะวันตกพร้อมชงครม. มี.ค.นี้ รองรับผู้โดยสารเป็น 120 ล้านคน/ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิให้เกิดประโยชน์และให้สอดคล้องกับการบริการผู้โดยสารภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) ทำแผนก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ (North Expansion)และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม ทางด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และทิศตะวันตก(West Expansion) เพิ่มพร้อมกันทั้ง 3 อาคาร ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อีกฝั่งละ 15 ล้านคน/ปี รวมเป็น 30 ล้านคน/ปี ซึ่งจะทำให้รองรับปริมาณผู้โดยสารรวมกว่า 120 ล้านคน/ปี ซึ่งแผนจะต้องให้แล้วเสร็จใน60 วัน ก่อนที่จะเสนอมาที่กระทรวงก่อนเสนอ ครม.ภายในมี มี.ค.64ต่อไป โดยมั่นใจว่าถ้าตามแผนดำเนินการจะทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 66-67

สำหรับสาเหตุที่ให้ ทอท. เสนอสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารทางด้านทิศเหนือ (North Expansion)และ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ทั้งทางทิศตะวันออก และ ตะวันตกมาในแผนเดียวกัน เนื่องจากว่าปัจจุบัน อาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิมรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน /ปี แต่คนใช้บริการจริงก่อนสถานการณ์โควิดที่ 60 ล้านคน/ปี ขณะเดียวกันปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) และการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี รวมกับอาคารเดิมเป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน/ชม.-เป็น 90 เที่ยวบิน/ชม. และจะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน/ปี ดังนั้นเมื่อปริมาณผู้โดยสารและสายการบินเพิ่มขึ้น ทาง ทอท. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาคารที่พักผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับ ขณะเดียวกันมั่นใจว่า สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายในปี 65 ดังนั้นจึงควรใช้ช่วงที่สนามบินไม่มีปริมาณผู้โดยสารรีบดำเนินการ

โดยแผนงาน การก่อสร้าง East Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง ส่วนการก่อสร้าง West Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาออก 34 ช่อง ขาเข้า 56 ช่อง

ทั้งนี้ในการก่อสร้าง North Expansion รองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ 30 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 41,260 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน พื้นที่ 348,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาคารจอดรถ 3,000 คัน หลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุมจอด สายพานรับกระเป๋า 17 ชุด ช่องตรวจค้น 49 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาเข้า 82 ช่อง ขาออก 66 ช่อง รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ทั้ง Airside และ Landside รวมทั้งมีพื้นที่ถนนรองรับรถหน้าอาคารผู้โดยสาร (Curb Side)ในส่วนของอาคารทิศเหนือ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ให้ทอท. เร่งหารือกับ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อทบทวนความเห็นกลับมาอีกครั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คาดว่าจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในเดือนมี.ค. 64 และเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) เริ่มก่อสร้างต.ค.64 โดยอาคารทิศเหนือจะเสร็จก่อนเร็วสุดในเดือนก.ย. 66 ส่วนอาคารตะวันออกและตะวันตกจะเสร็จในเดือนม.ค. 67 ส่วนงบประมาณในการลงทุนนั้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนเกือบ 60,000 ล้านบาท มองว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับทอท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเบอร์ต้นๆ ที่มีสถานะการเงินเข้มแข็งมาก

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบันทอท.มีสภาพคล่องประมาณ 32,000 ล้านบาท และประเมินการเงินในปี 2564 ทอท.ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ส่วนในปี 2565-2566 จะต้องประเมินสถานการณ์วัคซีนและการเดินทางอีกครั้ง โดยเบื้องต้น ทอท.มีรายจ่ายประจำ ประมาณ 250 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 หลังนี้มี IRR ที่คุ้มค่า และทอท.มีความพร้อมที่จะลงทุน