“ศักดิ์สยาม”สั่ง รฟท.ทำแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟสายสีแดงใน7วันย้ำ!ต้องไม่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขาดทุนซ้ำซาก

“ศักดิ์สยาม”ลุยตรวจความพร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- ตลิ่งชัน พร้อมสั่งบอร์ด รฟท. สรุปแผนสร้างรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ต้องมีรายได้ปีละ 400ล้าน ห้ามขาดทุนให้เป็นภาระรัฐ ส่วนสถานีรถไฟหัวลำโพงคงเหลือตำนานปิดให้บริการจรองไม่มีขบวนรถเข้าออกตั้งแต่ พ.ย.64นี้ พร้อมสั่งการด่วน!ให้ปลัดคมนาคมศึกษาแผนรองรับคนใช้บริการรถไฟสายสั้นที่จะได้รับผลกระทบให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน หลังกระแสมีคนถล่มว่าไม่เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำรายได้น้อยเข้าเมือง ช่วงเช้าเย็น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมและทดสอบระบบ สถานีกลางบางซื่อ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.64ว่า จากการลงพื้นที่และทดสอบระบบรถได้กำชับให้ รฟท.ปรับปรุงพื้นที่สถานีทุกแห่งให้มีความพร้อมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา สถานีหลายแห่งได้มีการก่อสร้างเสร็จนานแล้วและไม่ได้ใช้งาน จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาให้พร้อมตามกำหนดการ ที่จะเริ่มเดินรถทดสอบเสมือนจริงในเดือนมี.ค.64 , เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี ในเดือน ก.ค. 64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ในเดือนพ.ย.ปลายปีนี้ โดยทุกรายละเอียดจะต้องพร้อมที่สุด แม้แต่ความสะอาดของห้องน้ำภายในพื้นที่สถานีด้วย

ส่วนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอย 298,200 ตารางเมตร จากแผนเดิมที่รฟท.เสนอมาว่า ก่อนจะมีการประกวดราคาหาเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยวิธีการลงทุนแบบ PPP ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ดังนั้นตั้งแต่ปี 64-67 รฟท.จะเป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เอง ซึ่งแผนของ รฟท.เบื้องต้น ระบุว่าจากปัจจุบันจนถึงปี 67 จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ บริหารพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1,440 ล้านบาท แต่จะสามารถหารรายได้ได้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อแผนแบบนี้ แค่คิดก็ขาดทุนแล้ว จึงได้ให้นโยบาย ให้ไปปรับแผนใหม่ เพื่อให้การดำเนินงาน ต้องไม่ขาดทุนไม่เป็นภาระกับรัฐบาล ที่จะต้องนำเงินมาอุดหนุนอีก ซึ่งแผนการดำเนินการสร้างรายได้นี้ ตนได้สั่งการให้ บอร์ด รฟท.หารือผู้บริหาร จัดทำแผนหารายได้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนนำมาเสนอให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนรายงานให้ตนทราบต่อไป

“ ได้สั่งการว่าในช่วงเวลาปี64- 67 รฟท.ต้องหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ก่อนที่เอกชนจะเข้ามาบริหารพื้นที่แบบ PPP รฟท.ต้องหารายได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดทุนขึ้นอีก ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หลายแห่ง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. ก็มีประสบการในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ซึ่งสามารถนำเอาความรู้มาปรับใช้ ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อได้”

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า และเมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ในเดือน พ.ย. 64 แล้วนั้น รถไฟทุกขบวนที่เคยวิ่งเข้าไปที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)โดยเฉพาะรถไฟสายไกลจำนวนกว่า 188ขบวน จะต้องไม่มีวิ่งเข้าไป และทุกขบวนจะมาหยุดที่สถานีกลางบางซื่อเท่านั้น เพื่อให้การเดินระบบรถไฟ ไม่ก่อปัญหาจราจรจรติดขัดในเมืองชั้นใน ไม่เกิดปัญหามลพิษ หากจะมีการเดินรถเข้าเมือง จะต้องทำเท่าที่จำเป็น และต้องทำช่วงหลังเวลา 22.00 น.-04.00 น. เท่านั้น ขณะเดียวกันสถานีกลางบางซื่อได้มีการลงทุนไปจำนวนมาก และมีระบบรางที่ให้บริการในสถานที่เดียวกันหลายระบบทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟสายไกล รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟเชื่อม 3สนามบิน ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื้อให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเป็นศูนย์กลางทางรางของอาเซียน ส่วนสถานีหัวลำโพงได้มอบให้ รฟท. ไปศึกษาเบื้องต้นอยากให้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่จะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้

ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าหากงดการเดินรถทุกขบวนเข้าหัวลำโพง จะกระทบกับรถไฟฟ้าสายชานเมือง ซึ่งเป็นสายสั้นใช้บริการหรือไม่เนื่องจากมีประชาชนนั่งบริการเข้ามาทำงานในเมืองชั้นในช่วงเช้าและเย็นนั้นว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ศึกษาหาระบบการเดินทางเชื่อมต่อ รองรับการเดินทางของผู้โดยสารกลุ่มนี้ โดยให้หารือร่วมกับ รฟท.ให้ได้ข้อสรุปดังกล่าวภายใน 1 เดือน