“ศักดิ์สยาม”ถกประเทศคู่เจรจา”จีน-ญี่ปุ่น -เกาหลี”เชื่อมโยงขนส่งแบบไร้รอยต่อสำเร็จด้วยดี

  • ลุล่วงไปด้วยดีประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนครั้งที่18
  • “ศักดิ์สยาม”นำทีมถกร่วมรัฐมนตรีอาเซียนจบแบบชื่นมื่น
  • วันสุดท้ายลงนามพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11บริการขนส่งทางอากาศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN and China Transport Ministers Meeting: ATM+China) ครั้งที่ 18 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN and Japan Transport Ministers Meeting: ATM+Japan) ครั้งที่ 17 และการประชุมรัฐมนตรีขนส่งระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN and Republic of Korea Transport Ministers Meeting: ATM+ROK) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งมี นายเหวียน หว่าน เถ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเวียดนาม เป็นประธานร่วมการประชุมร่วมกับนายหนายหลี่ เสี่ยวเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจีน นายโนบูฮิเดะ มิโนริกาวะ รัฐมนตรีแห่งรัฐ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และนายคีชู ชอย ประธานคณะกรรมาธิการการขนส่งในเมืองใหญ่ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีขนส่งของประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และรองเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเป็นการติดตามผลความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกันกับประเทศคู่เจรจา การขนส่งอย่างปลอดภัยและยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง โดยสรุปผลการประชุมได้ดังนี้

  1. จีน
    • การรับรองและลงนามพิธีสาร 3 การขยายการแลกเปลี่ยนสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน-จีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
    • ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ฉบับปรับปรุง ปี 2561-2563 ประกอบด้วยโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบก ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งให้การรับรองข้อเสนอโครงการใหม่สำหรับดำเนินการในปี 2563 ซึ่งมุ่งเน้นด้านการขนส่งทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ความร่วมมือกับท่าเรือสิงคโปร์และหน่วยงานทางน้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริม ยอมรับ และการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของเรือ และการฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการและมาตรฐานสำหรับเรือที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น
  2. ญี่ปุ่น
    • การรับรองแผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการใช้เรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการลดจำนวนเรือเก่าของประเทศสมาชิกอาเซียน (อายุ 30 ปีขึ้นไป) ที่เดินเรือในภูมิภาคอาเซียน และไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของอนุสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในภูมิภาคซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ปี 2561-2562
    • การรับรองโครงการ/กิจกรรมใหม่ จำนวน 5 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2563 เป็นต้นไป คือ 1) แผนการฝึกอบรมการดำเนินการด้านระบบนำทางด้วยดาวเทียม 2) การทดสอบระบบสาธิตการควบคุมยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ 3) การวิจัยร่วมด้านการบำรุงรักษาสะพานสำหรับการข้ามเขตแดนอาเซียน 4) การต่ออายุโครงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางน้ำ และ 5) การปรับปรุงการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของผู้สูงอายุและคนพิการ
  3. สาธารณรัฐเกาหลี
    • การได้ข้อยุติต่อร่างสุดท้ายของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่อาวุโสและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดของร่างความตกลงฯ บนพื้นฐานของการเปิดเสรีที่มากขึ้นและได้รับประโยชน์ร่วมกัน
    • รับทราบความสำเร็จของการประชุมความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงโซล ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เพื่อการขยายการเชื่อมโยงด้านการขนส่งเพื่อความเจริญเติบโตร่วมกันระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี” และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับบุคลากรของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) การฝึกอบรมบุคลากรด้านนโยบายและความปลอดภัยของการขนส่งทางรถไฟ 2) การฝึกอบรมบุคลากรด้านนโยบายและการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ 3) การฝึกอบรมบุคลากรด้านการขนส่งในเมืองที่ยั่งยืน และ 4) การฝึกอบรมบุคลากรด้านการเวนคืนที่ดิน การชดเชย และการประเมินราคา

นอกจากนั้นนายศักดิ์สยาม และนายหลี่ เสี่ยวเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจีน ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างหน่วยงานของประเทศจีนและหน่วยงานของประเทศไทยในการรับรองประกาศนียบัตรของผู้ทำการเรือ (Undertaking between People’s Republic of China Administration and Thailand Administration on Mutual Recognition of Seafarer Certificates) โดยมี นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายเฉา เต๋อเซิ่ง อธิบดีกรมความปลอดภัยทางน้ำ เป็นผู้ลงนาม เพื่อส่งเสริมให้คนประจำเรือของไทยไปประกอบอาชีพในเรือสัญชาติจีนที่ยังมีความต้องการแรงงานคนประจำเรืออยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการขยายความร่วมมือกับประเทศจีนในการยกระดับความรู้และทักษะความสามารถคนประจำเรือไทยให้สูงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน และการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา นายศักดิ์สยาม และรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ได้ลงนามพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Eleventh Package of Commitments on Air Transport Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นเสนอปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดบริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft repair and maintenance services) โดยไม่จำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้หลักเกณฑ์และต้องมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2562 ซึ่งการเปิดตลาดการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน จะยกเว้นการบำรุงรักษาที่ลานจอดอากาศยาน (Line maintenance) อันจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจีน ได้ลงนามพิธีสาร 3 ว่าด้วยการขยายสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ระหว่างภาคีคู่สัญญา (Protocol 3 on the Expansion of Fifth Freedom Traffic Rights between Contracting Parties) เป็นพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน-จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนและสายการบินของประเทศจีนสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ในจุดที่ฝ่ายอาเซียนระบุไว้จำนวน 8 จุด และจุดที่จีนระบุไว้จำนวน 8 จุด ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนความจุความถี่และแบบอากาศยาน

สำหรับประเทศไทยได้ระบุ 1 จุด คือ ระยอง ทั้งนี้ ร่างพิธีสารจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 2 ประเทศให้สัตยาบันและจะมีผลเฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันเท่านั้น สิทธิภายใต้ร่างพิธีสารดังกล่าวถือเป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเพิ่มช่องทางการให้บริการและขยายเครือข่ายเส้นทางการบินให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนนโยบายพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา-ระยอง ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอีกด้วย