

- ชี้ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบข้อเท็จตรึม
- ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่เลย
- ถาม คชก. นั่งดูแต่เอกสารในหอคอยงาช้างหรือไง ไม่ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเลย
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 10 มี.ค.นี้เวลา 10.00 น. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านในพื้นที่ซอยเอกมัยซอย 1 และซอยสุขุมวิท 61 เขตวัฒนา จะร่วมกันเดินทางไปศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้อง ผอ.เขตวัฒนา ผอ.สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้สาเหตุสืบเนื่องมาจากชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการที่มีบริษัทเอกชนเจ้าพ่อเรียลเอสเตทชื่อดังของเมืองไทย ได้เข้ามาก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดขนาดใหญ่ในพื้นที่มากกว่า 3 อาคาร ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยและซอยแคบมีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร เป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้า-ออกของยานยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนเป็นอย่างมาก และยังทำให้บ้านเรือนข้างเคียงกำแพงบ้าน ผนัง พื้น ชำรุดพังเสียหาย เสียงดังและฝุ่นละอองอบอวล ซึ่งชาวบ้านพยายามร้องคัดค้านไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และสำนักงานเขตวัฒนาแล้ว แต่ก็แก้ไขปัญหาและหยุดยั้งให้ไม่ได้

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวปรากฎว่า เป็นการจัดทำรายงานแทบจะเป็นเท็จทั้งเล่ม และมีการบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่เลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตราบใดที่ คชก. นั่งดูแต่เอกสารในหอคอยงาช้าง โดยไม่ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ย่อมจะไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าบริษัทที่ปรึกษาที่รับจัดทำรายงาน EIA จะทำข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างไรบ้าง อาทิ การไม่รายงานว่ามีลำรางสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญติดกับพื้นที่โครงการฯ เป็นต้น รวมทั้งมีการใช้เล่ห์กลในการวางแบบแปลนเพื่อเลี่ยงกฎหมายมากมาย เช่น บริเวณทางเข้า-ออกของโครงการ โฉนดที่ดินมิได้ใช้ชื่อของโครงการฯแต่เป็นชื่อของบริษัทลูกของบริษัทเจ้าของโครงการฯ แล้วให้โครงการฯมาขอให้เป็นที่ดินภาระจำยอมแทน ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าที่ดินภาระจำยอมนั้น “อสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องเป็นคนละเจ้าของกัน”
นอกจากนั้นยังมีการออกแบบอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยไม่ถึง 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)ในแต่ละอาคาร แต่กลับทำทางเชื่อมกันระหว่างอาคารได้ เพื่อเลี่ยงกฎหมายการควบคุมอาคาร 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (2535) และไม่ปรากฎว่าการขุดดินเพื่อทำชั้นใต้ดินของอาคารและการขนย้ายดินออกไปจากพื้นที่มากกว่า 37,017 ลูกบาศก์เมตรกลับไม่ปรากฏว่านำไปแอบทิ้งในบริเวณใด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านในพื้นที่ซอยเอกมัยซอย 1 และซอยสุขุมวิท61 เขตวัฒนา จึงจะร่วมกันเดินทางไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งระงับโครงการดังกล่าวเสีย อีกทั้งจะมีการขอให้ศาลไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาด้วย