วิกฤตพลังงาน-อาหารดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ แตะ 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี

  • เหตุต้นทุนด้านพลังงาน
  • อาหารที่สูงขึ้น
  • ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่าราคาในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ค.) เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับร้อยละ 8.6 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524

สหรัฐฯ มีปัญหาเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2564) เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างไม่คาดคิดจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันภาคครัวเรือนและผู้กำหนดนโยบายในการควบคุมปัญหา

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมีนาคม และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายในเดือนเมษายน แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ผลักดันให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวสาลีปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ (2565) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ในขณะที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 34 ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าต่าง ๆ และกำลังซื้อของครัวเรือน มีการใช้จ่ายลดลง

ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ ผลการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกัน พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประเทศ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และคะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง