วัยเกษียณมีลุ้นได้เฮ! “อาคม” จ่อชง ครม. เพิ่มเงินสมทบ กอช. พร้อมฝากการบ้านธุรกิจประกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสถานการณ์

  • เผยเงินสมทบจะให้อัตราเท่าใด คาดจะได้เห็นความชัดเจนภายในปี 65 นี้
  • ห่วงกลุ่มสูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ จะได้มีเงินไว้ดูแลตนเองหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ชี้ธุรกิจประกันภัย ควรออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโครงสร้างพื้นฐาน
  • ออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย รวมถึงประกันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็มีความน่าสนใจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเป็นเงินออมไว้ดูแลสมาชิก กอช. หลังวัยเกษียณให้มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอัตราที่ได้รับเงินหลังเกษียณถือว่าต่ำเกินไป ส่วนจะสมทบในอัตราเท่าใดนั้น คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในปี 65 นี้ ซึ่งจะต้องมีการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้ง 

นอกจากนี้ กระทรวงฯยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิตเมื่อยามต้องเข้าสู่วัยเกษียณ

“การเพิ่มเงินเดือนให้สมาชิก กอช. หลังวัยเกษียณ เป็นแนวคิดที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี เพื่อรองรับสังคมสูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ จะได้มีเงินไว้เลี้ยงดูแลตนเองหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงแม้วัยเกษียณไปแล้ว แต่ยังทำงานได้  และยังมีเงินเดือนจาก กอช. มาสบทบก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ นายอาคม ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุและความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย” ในงานเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 2 ว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพ และสร้างความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณ 

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ก็ยังมีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อยู่ แต่ก๋ไม่รุนแรงเหมือนเช่นก่อนหน้านี้ดังนั้นจึงเป็นอีกปัจจัยที่ภาคธุรกิจประกัน ควรจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อสร้างระบบความคุ้มครอง ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ซื้อประกันได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ที่ได้เสียเงินในการจ่ายเบี้ยประกันภัยไว้ 

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจประกันควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน การสร้างเขื่อน ท่าเรือ สนามบิน ถนน เป็นต้น ซึ่งในต่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทดังกล่าวนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งหากภาครัฐต้องการทำประกันดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลต่อภาระในด้านงบประมาณที่ต้องเพิ่มขึ้น 

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย เพื่อสร้างความมั่นคงหลังวัยเกษียณ เพราะระบบประกัน ถือเป็นแหล่งระดมเงินออมที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังสามารถจับกระแสการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการนำเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับเรื่องประกันก็มีความน่าสนใจ เพราะจะเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป