วว. ขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ พัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกิจการที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยบริบทของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้เดินทางไปท่องเที่ยว

  • นำsoft powerพัฒนาการท่องเที่ยว
  • สร้างระบบนิเวศทางการเกษตร
  • สร้างเครือข่ายเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งพัฒนาไม้ดอกเพื่อการท่องเที่ยวด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านไม้ดอกในพื้นที่จากการนำเทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าปลอดโรคด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตไม้ดอกปลอดภัยตามมาตรฐาน GAPรวมทั้งการถ่ายทอดผลงานวิจัยเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ของ วว. และ วช. ให้แก่กลุ่มเกษตรของไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยะลาอุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา

“ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องในการนำต้นแบบจาก “I Love Flower Farm” ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งยกระดับไม้ตัดดอกภายในประเทศ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ผสมผสานการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของคนในชุมชนและเป็นชุมชนอุดมสุขรวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจและสำนึกรักในวิถีชีวิตชุมชน พัฒนาการบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบและมีธรรมาภิบาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายกับภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ”

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร.ชุติมา กล่าวต่อว่า ทั้ง วว. และ วช. นำมาเป็น soft power ในการพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างระบบนิเวศทางการเกษตรที่เข้มแข็งและยั่งยืนในชุมชน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี วว. จะนำต้นแบบดังกล่าวขยายผลในพื้นที่เครือข่ายวิจัยในจังหวัดอุบลราชธานี ยะลา นครราชสีมา และพื้นที่อื่นๆของไทย เพื่อหนุนนโยบายของรัฐบาลและนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำ soft power ผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

ขณะที่ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่าการขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เบญจมาศพันธุ์ใหม่/กล้าพันธุ์ปลอดโรค การส่งเสริมการผลิตไม้ดอกภายใต้ระบบเกษตรปลอดภัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การหาจุลินทรีย์ในการควบคุมโรค การหาคุณค่าทางโภชนาการ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการผลิตเบญจมาศนอกฤดู การยืดอายุไม้ตัดดอกเพื่อการขนส่งระยะไกลเพื่อให้ได้คุณภาพ (วิทยาการก่อน-หลังการเก็บเกี่ยว) การส่งเสริมการผลิตไม้ดอกชนิดใหม่ๆ ในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและตัดดอก การพัฒนาของที่ระลึกจากอัตลักษณ์ชุมชน การส่งเสริมการผลิตผักน้ำแบบปลอดภัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การตรวจลักษณะทางพันธุกรรมในพื้นที่การพัฒนาระบบการให้ธาตุอาหาร การแก้ไขปัญหาความขุ่นของน้ำที่ส่งผลต่อการผลิต และการส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรค เป็นต้น

นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการจะขับเคลื่อนด้วย “โมเดล 5 Love” ได้แก่ 

LOVE ECONOMIC EMPOWERMENT เพื่อพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่ให้มีคุณภาพมากขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น สวนเกษตร ที่พัก ร้านอาหาร องค์กรส่วนภาครัฐและเอกชนในหน่วยงานที่จัดกิจกรรมเสริมส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ กีฬา ดนตรี การแสดง ศิลปะ ฯลฯ

LOVE CULTURE เพื่อส่งเสริมภาคประชาคมในพื้นที่ ให้ก่อเกิดวิถีชุมชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีภาคการท่องเที่ยวสวนเกษตร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้นแบบ

LOVE ACTIVITIES เพิ่มกิจกรรมในการดึงเวลานักท่องเที่ยงให้มีเวลาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มเวลาในการใช้จ่ายในภาคส่วนอื่นๆ สร้างเสริมรายได้มากขึ้น ตามเวลาที่นักท่องเที่ยวใช้ในพื้นที่ เช่น การเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพมือถืออย่างง่ายจากช่างภาพมืออาชีพ งานศิลปะดอกไม้

LOVE INSPIRATION เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมภาคประชาคมและสามารถสร้างเป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสู่อาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

LOVE ENVIRONMENT เพื่ออนุรักษ์และสร้างเสริมวิถีชุมชนของประชาคมดั้งเดิมสืบเนื่องต่อไป ยั่งยืนไม่ให้สูญหายในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชน (จิมส์ ทอมสัน โมเดล)

“วว. และ วช. มุ่งมั่นให้ โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนเป็นโมเดลขับเคลื่อนการดำเนินงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย…เข้มแข็งมีมาตรฐาน มีความมั่นคง มั่งคั่ง ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน”