“วราวุธ” หนุนท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“วราวุธ” หนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้โอกาสและทางรอดของการท่องเที่ยว คือ การมุ่งสู่ความยั่งยืน

  • มุ่งสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปสู่ลูกหลาน
  • ยกระดับการท่องเที่ยวแบบลดโลกร้อน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Environment Situation for Tourism ในหลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 4 ประจำปี 2566 (Tourism Management Program for Executives: TME4) จัดโดยศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT Academy) โดยมีผู้บริหารในแวดวงการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟัง ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคการท่องเที่ยว เป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ต่างต้องพึ่งพาและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โอกาสและทางรอดของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน คือ การมุ่งสู่ความยั่งยืน ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจับมือกับหลายหน่วยงานในการยกระดับการท่องเที่ยวแบบลดโลกร้อน เพื่อเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวในตลาดสากล ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เหล่านี้ คือ แนวทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งการแก้ไขปัญหา Climate Change ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกองค์กร ทุกกระทรวง ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาครัฐที่จะต้องมีมิติในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด คือ หัวใจที่สำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนไปสู่ลูกหลานต่อไป