

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร่โรค ออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน
ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการของโรค เป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทาง ทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้า และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดและบังคับใช้บรรดามาตรการต่างๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนี้
1.ห้ามใช้อาคารสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด
2.ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงการแพร่โรค
3.ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการปิดสถานที่เสี่ยง
4.เงื่อนไขการเปิดดำเนินการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจะต่างกันตามพื้นที่
5.ให้ผู้ว่าราชการพิจารณามาตรการให้เหมาะกับพื้นที่
6.การเดินทางข้ามจังหวัด ขอให้เลี่ยง และจะมีด่านตรวจบุคคล ที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
7.ขอให้มีการทำงานที่บ้าน หรือลดจำนวนผู้ปฏิบัติงาน
8.คณะกรรมการเฉพาะกิจ จะเสนอนายกรัฐมนตรี ผ่อนผัน ผ่อนคลาย ได้ตามสถานการณ์