รัฐเผยแผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่คืบหน้า คาดเปิดใช้งานได้ภายในปี 2571 สนับสนุนการท่องเที่ยว

เรือสำราญแกรนด์ ปริ้นเซส อนุญาตให้เข้าเทียบท่าเพื่อตรวจสอบไวรัสโควิด-19
  • ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามันและอ่าวไทย
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ-เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) 3 โครงการ เพื่อยกระดับมาตรฐานท่าเรือสำราญไทยสู่สากล ส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบันขณะนี้มีความคืบหน้า สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย ตอบสนองต่อความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ

รัฐบาลโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เดินหน้าโครงการเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ทั้งในเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามัน และเส้นทางฝั่งอ่าวไทย โดยมีความคืบหน้าโครงการ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของผลการศึกษาแล้ว 80%

2. โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยมีความก้าวหน้าแล้ว 50%

3. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน มีความก้าวหน้าแล้ว 60% และได้ข้อสรุปที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โดยกรมเจ้าท่า ประเมินว่า ทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการท่าเรือได้ภายในปี 2571 ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญแวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น และสามารถจอดท่องเที่ยวในไทยนานขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 – 8 เท่า

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์เส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญ และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ โดยจากข้อมูลปี 2561 ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเรือสำราญเข้ามาแวะพักจอดมากเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย จำนวน 581 เที่ยวต่อปี อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 14% โดยมีท่าเทียบเรือหลักที่รองรับ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย และท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประเมินว่า ในปี 2566 ไทยจะมีจำนวนเรือสำราญเข้าสู่ประเทศ ไม่น้อยกว่า 156 ลำ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท