“รังสิมันต์”ตั้งกระทู้สดถาม “ประวิตร” กรณี “จ่านิว”ถูกทำร้าย

  • ชี้เงื่อนไขคุ้มครองพยานสะท้อนวิธีคิดไม่เคารพสิทธิตาม รธน.
  • เค้นหาคสช.ที่รู้เห็นเป็นใจการติดตาม

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แบบบัญชีรายชื่อ ตั้งกระทู้สดถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กรณีที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกรุมทำร้ายร่างกาย และเมื่อขอความคุ้มครองในฐานะพยาน กลับถูกยื่นเงื่อนไขกลับมาว่าต้องหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงกรณีการติดตามข่มขู่นักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายรังสิมันต์ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดถึง คือจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่กระทำผิดได้ ซึ่งตนก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการแสวงหาคนร้าย และจับให้ได้โดยเร็ว แต่กรณีที่ตนมีความกังวลอีกประเด็น ก็คือเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา สิรวิชญ์ได้ร้องขอเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองความปลอดภัยในฐานะพยาน แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นเงื่อนไข ว่าการได้รับความคุ้มครองนั้น นายสิรวิชญ์จะต้องหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ซึ่งนายสิรวิชญ์ก็ได้ตอบปฏิเสธไป ต่อมาในวันที่ 8 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร ได้ห้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ยืนยันว่าการทำหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อยู่ภายใต้การดำเนินการตามกฎหมาย

“ผมเองเรียนจบกฎหมายมา เพิ่งทราบว่าการคุ้มครองพยานจำเป็นต้องเพิกเฉยหรือละทิ้งหลักการตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเอาไว้ การยื่นเงื่อนไขเช่นนี้สะท้อนความคิดของ พล.อ.ประวิตรหรือไม่ ว่าการคุ้มครองสวัสดิภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องให้ประชาชนยุติการใช้เสรีภาพการแสดงออก วิพากษ์วิจารณ์ เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล แม้จะเป็นสิ่งที่รับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม เช่นสิทธิการได้รับความคุ้มครองไม่ว่าจะเป็น มาตรา 4 เรื่องศักดิศรีความเป็นมนุษย์ มาตรา 28 รับรองชีวิตและร่างกาย และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการชุมนุมเอาไว้ หน้าที่สำคัญของคนเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมเอาไว้ รองนายกฯไม่สามารถทำลายหลักการที่บัญญัติเอาไว้นี้ได้ตามรัฐธรรมนูญ นายสิรวิชญ์ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวแสดงออกได้ และการได้รับการปกป้องจากรัฐ การคุ้มครองพยานสามารถทำควบคู่ไปกับการปล่อยให้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อ ถึงกรณีการติดตามคุกคามนักกิจกรรมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นายจาก สน.ดอนเมือง มาที่บ้าน ดร.อนุสรณ์ อุณโน โดยระบุว่าได้รับคำสั่งจากเบื้องบนให้มาตรวจสอบว่า ดร.อนุสรณ์ได้พักอาศัยที่บ้านหลังนี้จริงหรือไม่ และยังมีรายชื่ออีก 4 คนที่ตำรวจต้องไปตามหาด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายประจิน จากกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ถูกตำรวจ สน.มีนบุรีในลักษณะข่มขู่คุกคาม และกรณีของนายกันต์แสงทอง นักกิจกรรม ถูกตำรวจจาก สน.ตลิ่งชัน อ้างว่ามาดูแลความปลอดภัย และยังมีกรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดต่อมาทางผู้ปกครอง ข่มขู่ให้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน

ตนจึงอยากถามว่าคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ขอร้องให้ยุติบทบาททางการเมือง หากพวกเขาไม่ยอมปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ได้ขอมา ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบเดียวกับที่นายสิรวิชญ์ได้รับหรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมีคนที่ไม่เชื่อการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ในลักษณะเดียวกันนนี้ ถูกทำร้ายร่างกายมาโดยตลอด

“ผมหวังเพียงอย่างเดียว ว่าไม่อยากให้การปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนเป็นเหมือนการจ่ายค้าคุ้มครองด้วยราคาของเสรีภาพ รัฐมีหน้าที่รับรองเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ชื่นชอบโดยรัฐหรือไม่” นายรังสิมันต์กล่าว

จากนั้น นายรังสิมันต์จึงได้เข้าสู่คำถาม ประกอบไปด้วย 1. เพราะเหตุใด พล.อ.ประวิตรและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงยื่นเงื่อนไขให้นายสิรวิชญ์ว่าหากต้องการความคุ้มครองความปลอดภัย จะต้องเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่ประชาชนควรต้องได้รับเสรีภาพทั้งสองอย่าง การยื่นเงื่อนไขเช่นนี้เป็นการข่มขู่หรือไม่ 2.เหตุใดจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่มาคอยติดตามตัวประชาชนในลักษณะการกดดันไม่ให้แสดงออกหรือคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ประเชาชนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการล้มล้างรัฐไทย แต่ต้องการต่อต้าน คสช.ที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐเท่านั้น เหตุใดประชาชนที่ต่อต้าน คสช.จึงถูกโยงให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐไปได้ และ 3.การกดดันของเจ้าหน้าที่หากประสบผลสำเร็จ ทำให้ประชาชนเลิกแสดงออกทางการเมืองได้ ผู้ได้รับประโยชน์จะได้แก่ คสช.เอง เช่นนี้แล้ว คสช.และบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นเป็นใจต่อปฏิบัติการดังกล่าวหรือไม่