ระวัง!สัตว์มิพิษกัดช่วงหน้าฝน“สพฉ.”เตือนประชาชน

  • สถิติเดือนพ.ค. 61ที่ผ่านมา มีผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดมากถึง 1,578 คน 
  • สัตว์ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ งูพิษ และ  ตะขาบ
  • แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

 เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่หน้าฝน อย่างเป็นทางการ  นอกจากประชาชนจะเจ็บป่วยฉุกเฉินจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยทั้งอากาศร้อนและพายุฝนแล้ว ยังเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ถูกกัดหรือต่อยจากสัตว์มีพิษที่มากับพายุฝนด้วย ทั้งนี้จากสถิติการรับแจ้งเหตุอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการโดนสัตว์มีพิษกัดหรือต่อยในช่วงเดือนพ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีประชาชนแจ้งเหตุมากถึง 1,578 ราย  

“วันนี้ตนจึงอยากฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังสัตว์มีพิษที่จะมากับฝน โดยสัตว์มีพิษที่ประชาชนควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ งูพิษ   ตะขาบ  โดยงูพิษเป็นสัตว์ที่น่ากลัวที่สุด  จะแฝงตัวอยู่ในพื้นที่รกและชื้นแฉะ”

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย  ระบุว่า งูพิษที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ 1.งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม  งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา โดยพิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต

 2.งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด ได้แก่ งูแมวเซา ซึ่งหากถูกกัด จะมีอาการปวดบวมบริเวณรอบแผลเล็กน้อย  และงูกะปะ หากถูกกัดจะพบตุ่มน้ำเลือด  และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกัด ส่วนกรณีของงูเขียวหางไหม้ จะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด และลามขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ถูกกัดบริเวณนิ้วมือ แต่บวมทั้งแขน นอกจากนี้จะมีอาการช้ำเลือด  และ พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด  หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง  ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน  หรือพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้ และ 3.งูพิษที่มีผลทำลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล  โดยจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน อาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด

   ทั้งนี้หากท่านพบเห็นผู้ที่ถูกงูพิษเหล่านี้กัด   ให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ จากนั้นให้ปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่  โดยรีบล้างแผลให้สะอาด ห้ามกรีดบาดแผล หรือดูดเลือดออกจากบาดแผลเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความเข้าใจผิด และอาจจะทำให้ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะได้รับพิษไปด้วยหากมีบาดแผลในช่องปาก 

นอกจากนี้ห้ามกินยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ให้พิษงูทำงานเร็วยิ่งขึ้น   และควรจัดให้ผู้ที่ถูกงูพิษกัดอยู่ในท่าที่สบายนอนนิ่งๆ และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ใช้ผ้ายืดหรือหาผ้าสะอาดพันรอบอวัยวะส่วนที่ถูกกัดให้กระชับ โดยพันจากส่วนปลายขึ้นมาจนสุดบริเวณอวัยวะถูกกัด แล้วทำการดามด้วยของแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะบริเวณที่ถูกกัด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ที่สำคัญไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยการขันชะเนาะ เพราะหากทำผิดวิธีจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายมากยิ่งขึ้น และหากผู้ป่วยฉุกเฉินหยุดหายใจจะต้องรีบทำการฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ทันที 

หากถูกตะขาบกัด ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างแผลที่ถูกตะขาบกัดให้สะอาด กินยาพาราเซตามอลแก้ปวด ให้ยาหม่องทาบางๆเบาๆ ไม่กดนวด ตรงบริเวณที่ถูกตะขาบกัด ถ้ามีอาการปวดมากให้ใช้น้ำอุ่นประคบที่แผล  20 นาที เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการปวดอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก หรือมีอาการหอบเหนื่อยให้รีบไปสถานพยาบาลเพื่อพบแพทย์โดยด่วน 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้เรารอดพ้นจากสัตว์มีพิษที่จะมากับฝนได้นั้น ต้องหมั่นสังเกตพื้นที่บริเวณรอบบ้านต้องทำความสะอาดไม่ให้บ้านรกรุงรังซึ่งจะเหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์มีพิษเหล่านี้  รวมถึงสังเกตตามมุมอับของบ้าน และบริเวณที่นอน ก่อนสวมใส่เสื้อผ้า ก็ควรสลัดก่อนใส่ทุกครั้ง เพื่อป้องกันสัตว์มิพิษเหล่านี้ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  และหากจำเป็นต้องเดินในพื้นที่รกชื้นควรใส่รองเท้าหุ้มส้น  เตรียมไฟฉาย ไว้ส่องสว่าง  และเตรียมไม้ไว้ตีไล่สัตว์มีพิษออกไปด้วย.