รอดข้อหา “ปั่นค่าเงิน”

ทำเอาหวาดเสียว เจียนอยู่ เจียนไปมาหลายรอบแล้ว สำหรับการถูกขึ้น “แบลกลิสต์” ข้อหาปั่นค่าเงินของประเทศไทย !

เพราะทุกครั้งที่ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) จะมีการเผยแพร่ “รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ” หรือ ลิสต์รายการประเทศที่เข้าแทรกแซง หรือ ปั่นค่าเงินของตัวเองให้ค่าเงินอ่อนกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ทางการค้า การลงทุน

จะต้องมีรายชื่อ “ประเทศไทย” ติดอันดับประเทศที่จะถูกขึ้น “แบลกลิสต์” ในข้อหา “แทรกแซงบิดเบือนหรือปั่นค่าเงิน” มาตลอด

และก่อนหน้าการประกาศผลรายงานครั้งนี้ก็เช่นกัน “ประเทศไทย”มีรายชื่อที่จะถูกยกระดับ monitoring list หรือถูกจับตาเป็นพิเศษ เป็น ประเทศที่มีการ “ปั่นค่าเงิน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ข่าวดี ก็คือ ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน monitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถือว่า “รอดไปอีกครั้งหนึ่ง” 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามกฎเหล็ก 3 ข้อของสหรัฐฯว่า ประเทศนั้น  เข้าเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ หรือไม่  สถานะของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ถึง 2 ข้อ คือ 

1.ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2. ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2%  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ทำให้สหรัฐยังคง “จับตา” ไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไทย ยังไม่ได้มีการเข้าแทรกแซงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เกินกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)  ซึ่งเป็นเกณฑ์ตัดสินตัวสุดท้าย หรือเกณฑ์ที่ 3 ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

ข้อนี้ ข้อเดียวทำให้ประเทศไทยรอดจากประเทศแทรกแซงค่าเงินในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้ามการยั้งมือในการดูแล “ค่าเงินบาท”  ทำให้ช่วงที่ผ่านมา จึงเงินบาทของไทยจึงไม่ได้ “อ่อนค่า”ถูกใจผู้ส่งออก เช่นเดียวกับการอ่อนค่าของหลายสกุลเงินเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศไทย ที่ถูกปประเมินให้อยู่ใน monitoring list ในรอบนี้ ยังมีอีก 10 ประเทศที่สหรัฐประกาศจัดให้อยู่ใน monitoring list ด้วยเช่นกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเม็กซิโก

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในครั้งนี้ให้ ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม ถูกจับตาในฐานะที่ประเทศที่ดำเนินนโยบายเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายทางการค้าของสหรัฐ  และหากเป็นช่วงปกติ ประเทศที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าว สหรัฐฯ จะใช้ “มาตรการกีดกันทางการค้า” เพิ่มขึ้นกับประเทศเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ สถานการณ์ของเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก กำลังเผชิญกับความตกต่ำจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโควิด-19  ทำให้ยังต้อง “วัดใจ” รัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง ว่าจะ มีมาตรการกดดันเพิ่มเติมต่อประเทศเหล่านี้หรือไม่ในเวลานี้ หรือจะยกประโยชน์ให้จำเลย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ 

รวมทั้ง ไม่กระทบต่อบทบาทของแบงก์ชาติ ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์ 

โดยแบงก์ชาติ ระบุว่า ได้ความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ ว่า เราดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ ผู้ส่งออก-นำเข้า ทำความเข้าใจเช่นกันด้วยว่า แนวนโยบายอััตราแลกเปลี่ยของที่แบงก์ชาติใช้ จะปล่อยให้ “ค่าเงินบาท“ของไทย เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก

การบริหารจัดการ และป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงที่มีความเสี่ยงแบบนี้ และในระยะต่อไปข้างหน้าที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง

ท้ายที่สุด ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อ “ไทยรอดข้อหา” ในครั้งนี้ได้แล้ว ครั้งต่อไปจะรอดได้อีกหรือไม่  

แบงก์ชาติ มองว่า โอกาสที่จะรอดต่อเนื่องต่อไป ยังคงมีความเป็นไปได้ เพราะเท่าที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้า พบว่ามีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ไทยหลุดจากกฎเหล็กของที่ 2 ของสหรัฐฯ 

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น กูรูในแวดวงการเงิน และส่งออก ยืนยันตรงกันว่า ไทยคงไม่หลุดจากประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ หรือ monitoring list ง่ายๆ และเชื่อว่าไทยจะยังคงอยู่ในประเทศ monitoring list ในรายงานครั้งต่อไป ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะประกาศใหม่ในช่วงปลายปี

#Thejournalistclub #โควิด19 #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ