“รสนา”ยื่นสภา กทม.พิจารณาไม่รับโอนหนี้สินรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย

14 กันยายน 2565 ที่สภากทม. อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร2 ดินแดง นางรสนา โตสิตระกูล ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภา กทม.และ ส.ก.50 เขต เพื่อให้สภากทม.มีมติไม่เห็นชอบรับโอนทรัพย์สิน หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย(2)มาเป็นหนี้ของกทม. ที่เป็นภาระเกินตัวกทม.จนนำไปสู่การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี2572ไปอีก30ปี เพื่อแลกหนี้ที่ไม่ใช่ของ กทม. ซึ่งสภา กทม.ควรระวังจะผิด มาตรา 157 ถ้ารับโอนหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2

ซึ่งในวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะนำเรื่องแผนจัดการรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย (2) และหนี้สินในส่วนต่อขยาย (1) และ (2 ) เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้มีมติแก้ไขปัญหาที่ค้างคาสะสมมาตั้งแต่สมัยอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนก่อนนั้น นางรสนาจึงขอเสนอให้สภากรุงเทพมหานครโปรดพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยาย (2) มาเป็นของกรุงเทพมหานคร เพราะจะทำให้กรุงเทพมหานครต้องแบกรับภาระเกินตัวจนถึงขั้นล้มละลายได้ และยังถูกบีบต้องแก้ไขหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักให้เอกชนออกไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับประชาชนคนกรุงเทพมหานครที่ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพงต่อไปอีก 30 ปี

ทั้งที่เมื่อถึงปี 2572 ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดสัมปทานและกลับคืนเป็นของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างระบบรางอีก เหลือเพียงค่าจ้างเดินรถและค่าบำรุงรักษาเท่านั้น ดังนั้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงควรถูกลงสำหรับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ที่ได้ร่วมกันจ่ายค่าโครงสร้างระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักผ่านค่าโดยสารมาตลอดระยะสัมปทาน 30 ปี (ตั้งแต่ปี 2542 – 2572) นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังจะมีรายได้เชิงพาณิชย์อีกปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครที่จะได้ค่าโดยสารที่ถูกลง

นางรสนา กล่าวต่อว่า หากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบการรับหนี้ส่วนต่อขยาย (2) ซึ่งยังไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร และยังเป็นเส้นทางคาบเกี่ยวนอกเขตที่ไปถึงจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ ภาระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นของกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ขอบเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งการไปรับโอนหนี้ส่วนต่อขยาย (2) จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มาเป็นหนี้ของกรุงเทพมหานครเองนั้น นอกจากจะไม่ได้ก่อเกิดผลประโยชน์อันใดต่อประชาชนกรุงเทพมหานครแล้ว ยังเป็นกลอุบายเพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่ไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นสภากรุงเทพมหานครควรมีมติส่งคืนรัฐบาล โดยไม่รับโอนส่วนต่อขยาย (2) ตามคำสั่งของรัฐบาล คสช.

ทั้งนี้ นางรสนาเห็นด้วยกับดำริของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เสนอจะยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นรวมทั้งเส้นทางหลัก (ที่ติดสัมปทานถึงปี 2572) คืนให้รัฐบาลบริหารจัดการแบบเจ้าของเดียว เพื่อเป็นการทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกบริหารเป็นระบบเดียวกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายในระยะทางรวม 499 กิโลเมตร ด้วยระบบตั๋วใบเดียว ราคาเดียว ในราคาถูกที่สุด ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้ต้องไม่ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี

หากสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) จนต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักจะทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครต้องเสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงต่อไปอีก 30 ปี จากมูลเหตุอันไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญหากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครท่านใดที่ลงมติเห็นชอบอาจต้องระวังว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่มีความรับผิดตามมาตรา 157 ด้วยหรือไม่

จึงขอเสนอให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรับรองการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) เพื่อรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวกรุงเทพมหานครต่อไป นางรสนากล่าว