รพ.ศิริราช ประกาศห้ามขายอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่วนผสมกัญชา ในพื้นที่โรงพยาบาล

  • หนุนประกาศ สธ.คุมกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
  • ห้ามเข้าในพื้นที่ให้ “สมาคมโภชนาการ”ออกข้อเสนอแนะ
  • เป็นต้นแบบของสถานพยาบาลที่ปลอดกัญชา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกประกาศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง มาตรการดำเนินการการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า…

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะสถาบันการแพทย์ของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงทั้งประโยชน์และ ผลอันไม่พึงประสงค์ของการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ที่อาจส่งผล กระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มารับบริการของโรงพยาบาลในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ,โรงพยาบาลศิริราช ปียมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาสัยมหิดล ขอสนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้สมุนไพรกัญชา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 และประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการห้ามจำหน่าย โฆษณา และบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ในการนี้ จึงขอประกาศมาตรการดำเนินการในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อเป็นต้นแบบของสถานพยาบาลที่ปลอดการใช้สมุนไพรกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญซง และพืชในตระกูล Cannabis ดังนี้

1.ห้ามมิให้มีการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

2.ห้ามมิให้มีการโฆษณา การส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรม การจัดจำหน่าย และการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูลCannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

3.ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไป ผู้มารับบริการ บุคลากรและนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญซงและพืชในตระกูล Cannabis เพื่อสันทนาการในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

4.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอสนับสนุนแนวทางการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ตามความเห็นของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ในบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

5.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัย ตลอดจนการนำสมุนไพรกัญชา และพืชในตระกูล Cannabis มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ตามข้อบ่งชี้ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ ศ.คลินิก ดร. แพทย์หญิงนลินี จงวิริยะพันธุ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องผลกระทบจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยมีผลให้ควบคุมเฉพาะสารสกัดที่มี Tetrahydrocannabinol (THC) เกินร้อยละ 0.2 และถือว่าทุกส่วนของกัญชานับว่าถูกกฎหมาย การปลดล็อกนี้จะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

พืชกัญชามีสารสำคัญได้แก่ THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การนำกัญชามาใช้ปรุงประกอบอาหารหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มจะทำให้ได้รับ THC ซึ่งหากได้รับเกินขนาด จะมีผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะคนที่มีความไวต่อสารนี้จะเกิดอากาแพ้แม้จะได้รับในประิมาณไม่มาก และรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งยังพบว่า THC ใช้เวลาอยู่ในร่างกายยาวนานหลายชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในทันทีจากการได้รับสารดังกล่าว จนอาจทำให้บริโภคในปริมาณที่เกินขนาดได้

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจเกิดต่อประชาชน จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันผลกระทบจากการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

1.การนำกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหารนั้น ใช้ได้เพียงบางส่วนของต้นกัญชาเท่านั้น ส่วนที่แนะนำให้นำมาใช้ประกอบหรือปรุงอาหารคือ ใบสดของกัญชา และเริ่มต้นไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ เพื่อประเมินผลข้างเคียงและการแพ้ส่วนประกอบในใบกัญชา ในขณะที่ช่อดอกของกัญชามี THC สูงและไม่เหมาะสมที่ จะนำมาใช้บริโภค

2.การปรุงประกอบอาหารด้วยความร้อนจะส่งผลให้เพิ่มปริมาณสาร THC ดังนั้น หากเป็นการต้มแนะนำให้รับประทานเฉพาะส่วนน้ำ ไม่แนะนำให้รับประทานส่วนใบที่ผ่านการต้มแล้ว หากเป็นการปรุงประกอบอาหารด้วยน้ำมัน จะมีผลในการเพิ่ม THC จำนวนมาก และสาร THC ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงไม่ควรนำใบกัญชาประกอบอาหารที่ใช้น้ำมัน

3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารกับประชาชนถึงผลกระทบและผลเสียที่จะเกิดจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

4.ขอให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา โดยห้ามจำหน่ายหรือโฆษณาอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา ภายในโรงเรียน

5.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังเพื่อไมให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากกัญซามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว

6.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารปริมาณที่เหมาะสมของใบกัญชาที่ใส่ในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างชัดเจน โดยให้มีการกำกับและเฝ้าระวังการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเข้มงวด

7.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกัญชา บังคับให้มีการระบุคำเตือนและแจ้งปริมาณสาร THC ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุปริมาณที่สามารถบริโภคได้ต่อหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับสาร THC มากเกินไป

8.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการห้ามใช้หรือบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในกลุ่มผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดชั้นรุนแรง ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มยาลดไขมันในเลือด กลุ่มยากันชัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาโดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ เพราะสารในกัญชาจะทำให้เพิ่มปริมาณยา ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพจากยาเกินขนาดได้ สำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

9.ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหาร ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการผลิตและขายอาหารหรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยมีการแสดงข้อความว่า มีการใส่กัญชาเป็นส่วนผสม และหรือแสดงปริมาณ อย่างชัดเจน

10.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

11.ขอให้มีการติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ทั้งนี้ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ยินดีจะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานทางวิชาการ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคกัญชาต่อสุขภาพของประชาชน