ม.หอการค้าไทยเผยภาคธุรกิจมองเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว

.จากยอดการค้าระหว่างประชาชน-ธุรกิจและท่องเที่ยวกระเตื้อง

.แต่ร้องรัฐคุมราคาน้ำมัน-ค่าบาทและไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกิน

.หวั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย และผู้บริโภคเดือนก.ย.65 พบว่า แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม และดัชนีการเมืองต่ำสุดในรอบ 6 เดือนจากปมนายกฯ 8 ปี และการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ แต่ภาคธุรกิจมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว จากการค้าขายระหว่างประชาชน และภาคธุรกิจ โดยมีการท่องเที่ยวตามมา แต่ต้องการให้ภาครัฐดูแลต้นทุน ทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ที่ควรปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ขึ้นเร็วเกินไปนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซึมตัว    

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องการให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยศูนย์ มองว่า ค่าเงินบาทในระยะสั้น จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37.5-38.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก  1-1.25% มาอยู่ที่ 4.25-4.50% ทำให้เงินบาทหลุด  38 บาท/เหรียญฯ ขณะที่ในภาคผู้บริโภค แม้ยังกังวลค่าครองชีพสูง การใช้จ่าย น้ำท่วม จ้างงาน แต่ในอนาคต ความเชื่อมั่นค่อยๆ ดีขึ้น โดยศูนย์มองว่า ปัญหาการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่มากนัก   

“นับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะซึมตัว กระทบต่อการส่งออก และท่องเที่ยวของไทย แต่ยังไม่รู้ว่า จะกระทบอย่างไร และเมื่อไร ยังต้องดูสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอีกว่าจะหนักหน่วงแค่ไหน แต่ยังโชคดี ที่จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการซีโร โควิดแล้ว จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยได้ มองว่า ในอีก 3-6 เดือน เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และจะฟื้นเป็นลำดับ และเศรษฐกิจโลกซึมตัว ยังไม่กระทบการส่งออกในไตรมาส 4 ยังมั่นใจว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.3-3.5% แต่ปีหน้า ต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และมีแนวรับทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว”    

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.65 พบว่า ดัชนีดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยดัชนีอยู่ที่ 44.6 เพิ่มขึ้น 43.7 ในเดือนส.ค.65, ดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 29.6 เพิ่มจาก 28.7, ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 51.7 เพิ่มจาก 50.8 ขณะดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.6 เพิ่มจาก 37.8, ดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 41.9 เพิ่มจาก 40.9 และดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.3 เพิ่มจาก 52.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 49.8 เพิ่มจาก 47.3 โดยมีปัจจัยบวกจากครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งคนละครึ่งเฟส 5 , เพิ่มกำลังซื้อบัตรคนจน , ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, รัฐผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง ฯลฯ