“มนัญญา-เฉลิมชัย”ป่วยซมพิษพาราควอต

  • กลุ่มหนุน-กลุ่มแบนใช้สารเคมีโต้ยับกลางกระทรวงเกษตร
  • ชาวสวนปาล์มเตรียมยื่นศาลปกครองคุ้มครองการใช้ฉุกเฉิน
  • ชี้เกษตรกร 5 แสนคนยังจำเป็นต้องใช้

เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย แกนนำเกษตรกรผู้ใช้สารพาราควอต หรือยาฆ่าหญ้า ได้เดินทางมาขอเข้าพบน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่ได้รับแจ้งจากข้าราชการว่า น.ส.มนัญญา ป่วยไม่ได้มาทำงาน ต่อมาได้มีการแจ้งว่า เวลา 12.30 น.นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) จะนำเกษตรกรและผู้บริโภคมาพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ กลุ่มนายมนัส จึงรอหวังพบนายเฉลิมชัยพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมาย 12.30 น.มีการแจ้งว่านายเฉลิมชัย ไม่สามารถมาพบเกษตรกรได้เนื่องจากป่วยกะทันหัน โดยให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ มารับเรื่องแทน แต่ก่อนถึงเวลาหารือปรากฏว่า ตัวแทนของมูลนิธิชีววิถี ที่สนับสนุนให้แบน 3สารเคมีเกษตร กับกลุ่มของนายมนัส ได้เกิดการโต้เถียงกัน โดยกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารพาราควอต เรียกร้องให้มูลนิธิชีววิถี นำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาให้ดูว่า มีสารตกค้างในรกเด็ก มีสารตกค้างในผักคะน้า โดยให้เหตุผลว่าอย่าใส่ร้ายโดยไม่มีเหตุผล แต่ทางมูลนิธิชีววิถี ก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร

ด้านนายมนัส เปิดเผยว่า เตรียมเสนอศาลปกครองเพื่อคุ้มครองฉุกเฉิน ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ หลังจาก รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง รมว.เกษตรฯและนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯรวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มีการล็อบบี้ให้แบนสารพาราควอต เพราะไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร

เพราะเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ปาล์ม ยาง มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดหวาน ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ใช้สารพาราควอต สามารถ ฝึกอบรมการใช้เพื่อความปลอดภัยและถูกหลักวิชาการ ขณะนี้ผานการอบรมแล้ว 500,000 รายและยังเหลืออีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการอบรม ซึ่งการที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมกันแบนภายในธงที่ตั้งไว้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจกับเกษตรกรที่เพาะปลูกพืช 5 ตัวนี้ มูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านบาท

“เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิมอนุญาตให้ใช้พาราควอตภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่าน เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก”

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งประชาชนทั่วไปร่วมกันสนับสนุนให้เกษตรกร ประมาณ 400,000 ราย หรือประมาณ 6% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดให้สามารถปรับตัวไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพา 3 สารพิษร้ายแรง หรือแบนสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่ยื้อกันมาหลายปีซึ่งข้อมูลเรื่องผลกระทบทั้ง 3 สาร เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว โดยให้ปรับตัวไปใช้วิธีกล เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆหรือในกรณีจำเป็นก็อาจไปใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

ทั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนจะยื่นข้อเสนอก่อนที่จะมีการประชุมชุดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในวันที่ 27 ต.ค.นี้ โดยเบื้องต้น 1.ให้มีการโหวตอย่างเปิดเผย 2.ขอให้รัฐบาลผลักดันพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน