พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเม.ย.66 ต่ำสุดรอบ 16 เดือน

  • เหตุราคาน้ำมันเชื้อเพลิง-อาหารชะลอลง
  • แนวโน้มเดือนพ.ค.66 ลดต่อเนื่องถึงสิ้นปี
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือน 18,153 บาทพุ่งสวนทาง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.66 เท่ากับ 107.96 เทียบกับมี.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.19% ส่วนเทียบกับเดือนเม.ย.65 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับจากเดือนธ.ค.64 ที่เพิ่มขึ้น 2.17% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับ ดัชนีเดือนเม.ย.65 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 3.58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.66 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.66 และเพิ่มขึ้น 1.66% เมื่อเทียบเดือนเม.ย.65 รวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 2.09%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพ.ค.66 คาดจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ไม่น่าเพิ่มขึ้นถึง 2% อาจจะเห็น 1% กว่าๆ เพราะดัชนีเดือนพ.ค.65 ยังอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก ราคาสินค้าและบริการเริ่มทรงตัว และบางรายการชะลอตัวและลดลง อีกทั้งค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 ปรับลดลงเหลือหน่วยละ 4.70 บาท ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมีส่วนช่วยให้เงินเฟ้อเดือนพ.ค.ไม่น่าจะสูงขึ้น และอาจทำสถิติต่ำสุดอีก

“ตั้งแต่เดือนพ.ค.65 เป็นต้นไป เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงมาก อย่างเดือนพ.ค.65 เพิ่มขึ้น 7.10% เดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.66% เดือนก.ค.65 เพิ่มขึ้น 7.61% เดือนต.ค.65 เพิ่มขึ้น 7.88% เพราะราคาน้ำมันดิบสูงมากถึง 107.68-113.10 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ประกอบกับ ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากอยู่ที่ 35-36 บาท/เหรียญฯ ทำให้ราคาน้ำมันนำเข้ายิ่งสูงขึ้น มีผลให้ต้นทุนน้ำมัน ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น และผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่มาปีนี้ ราคาน้ำมันลดลงมาก เดือนเม.ย.66 อยู่ที่ 84.63 เหรียญฯ/บาร์เรล และค่าเงินบาท 34.28 บาท ทำให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมัน และต้นทุนสินค้าลดลง และมีผลให้เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี”

แต่ต้องจับตาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น ก๊าซหุงต้มที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้ง ที่กระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร รวมถึงความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ส่วนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น กรมการค้าภายใน จับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิด และในช่วงที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในงวดต่อไปเดือนพ.ค.-ส.ค.66 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับลดค่าไฟฟ้าลงแล้ว ทั้งนี้ สนค.คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั่วไป ปี 66 จะเพิ่มขึ้น 1.7–2.7% ค่ากลาง 2.2% ซึ่งได้รวมมูลค่าการใช้จ่ายจากการหาเสียงเลือกตั้งไว้แล้ว

ส่วนการจัดทำค่าใช้จ่ายครัวเรือน พบว่า เดือนเม.ย.66 อยู่ที่ 18,153 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.66 ที่มีค่าใช้จ่าย 18,120 บาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโทรศัพท์มือถือ 4,230 บาท จากเดือนมี.ค.ที่ 4,223 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี่ 1,639 บาท จาก 1,637 บาท, ผักและผลไม้ 1,013 บาท จาก 999 บาท, ค่าแพทย์ ค่ายา ค่าบริการส่วนบุคคล 982 บาท จาก 981 บาท, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ 679 บาท จาก 678 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 401 บาท จาก 399 บาท และไข่และผลิตภัณฑ์นม 392 บาท จาก 386 บาท