พาณิชย์เตรียมชงครม.ไฟเขียวลงนาม “อาร์เซ็ป”

  • หลังสมาชิกขัดเกลาความตกลง 20 บทเสร็จสมบูรณ์
  • ลั่นพร้อมลงนามร่วมกันเดือนพ.ย.นี้ที่เวียดนาม
  • จากนั้นส่งสภาเห็นชอบก่อนให้สัตยาบันและบังคับใช้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.นี้ กรมเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ไทยลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีสมาชิกประกอบด้วย อาเซียน และคู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพราะขณะนี้ การขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บทเสร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว คงเหลือเพียงประเด็นคงค้างในเรื่องการเปิดตลาดอีกเล็กน้อย และพร้อมจะลงนามร่วมกันตามเป้าหมายภายในเดือนพ.ย.นี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ที่ประเทศเวียดนาม

“หลังจากการลงนามในเดือนพ.ย.นี้แล้ว สมาชิก รวมถึงไทย ต้องดำเนินการภายในเพื่อให้สัตยาบัน ซึ่งไทยจะต้องทำเรื่องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน คาดว่า ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 64 หลังจากสมาชิกอาเซียนกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน และคู่เจรจากึ่งหนึ่งให้สัตยาบันแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมได้เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกร และผู้ประกอบการ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากความตกลง สร้างแต้มต่อทางการค้า การลงทุนของไทย และปรับตัวรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อเยียวยา และช่วยเหลือผู้ที่คาดจะได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอของไทยกับประเทศต่างๆ

นางอรมน กล่าวต่อว่า ภายหลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว อาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง รวมถึงช่วยสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตร และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่สมาชิกเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง กระดาษ เป็นต้น