พาณิชย์ปลื้ม! ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี 4 เดือนพุ่ง

  • มูลค่ารวมทะลุ 2.4 หมื่นล้านเหรียญฯ ขยายตัว 21.44%
  • รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น-มาตรการดันส่งออกของไทย
  • ใช้สิทธิส่งออกไปอาเซียน-จีน-ออสเตรเลีย-สหรัฐฯนำโด่ง

 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.64 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24,286.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 74.17% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ แบ่งเป็นมูลค่าใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ 23,082.45 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 21.37% และมูลค่าใช้สิทธิภายใต้จีเอสพี 1,204.31 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 22.85% 

สำหรับเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 8,125.67 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 17.09% ตามด้วยจีน 7,110.54 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 25.07%, ออสเตรเลีย 2,836.27 ล้านเหรียญฯ เพิ่มกว่า 30%, ญี่ปุ่น 2,139.21 ล้านเหรียญฯ เพิ่มกว่า 10% และอินเดีย 1,582.95 ล้านเหรียญฯ เพิ่มกว่า 20%  

ส่วนสินค้าที่มีการใช้สิทธิส่งออกสูง และมูลค่าการใช้สิทธิสูง เช่น ทุเรียนสด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (อาเซียน-จีน), ผลไม้สด รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน และเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์), แผ่นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด (อาเซียน-เกาหลี), กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-ญี่ปุ่น) รถยนต์ ถุงมือ (ไทย-ชิลี), ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-อินเดีย), ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม (ไทย-เปรู) เป็นต้น 

ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์นั้น   ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ มากที่สุดคือ สหรัฐฯ 1,062.97 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 29.98% ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 88.97 ล้านเหรียญฯ ลดลง 12.47%, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มี 47.12 ล้านเหรียญฯ ลดลง 14.79% และนอร์เวย์ 5.25 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.23% สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิสูง เช่น ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวาน เป็นต้น 

“ภาพรวมการใช้สิทธิ หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63 เช่น อาเซียน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ การส่งออกไปบางตลาดสำคัญยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน เช่น อาเซียน-จีน และอาเซียน-อินเดีย เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการผลักดันการส่งออกของไทย และการอำนวยความสะดวกในการออกเอกสารส่งออก”

#Thejournalistclub #โควิด #FTA #พาณิชย์