พาณิชย์ประกาศคุมหน้ากากอนามัยทุกชิ้น

  • สั่งโรงงานส่งเข้าศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย
  • หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรปันส่วนให้ดีขึ้น
  • ชง”กกร.”กำหนดผู้ครอบครองเกินกำหนดต้องแจ้งป้องกันกักตุน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมหน้ากาก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคหน้าลนว่า นับจากวันที่ 3 มี.ค.นี้เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยทุกชิ้น ที่โรงงานผลิตได้ หรือประมาณเดือนละ 38 ล้านชิ้น จะนำเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ปันส่วนเข้าศูนย์ประมาณ 40-45% เพื่อให้ศูนย์สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ไม่ถือว่า เป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจปกติของภาคเอกชน เพราะพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์เต็มที่ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤติ ส่วนเมื่อนำมาทั้งหมด 100% แล้ว โรงงานจะสามารถทำการค้าได้ตามปกติหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณากันในศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มผู้แทนจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยด้วย ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลในสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมร้านขายยา เป็นต้น เพื่อจะได้รับการจัดสรรได้โดยตรง จากเดิมที่มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เป็นผู้จัดสรรให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกกร.กำหนดให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยจะเสนอให้กกร.พิจารณาโดยเร็วที่สุด หากไม่แจ้ง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมที่กกร.กำหนดให้เฉพาะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ต้องแจ้งปริมาณที่มีในครอบครอง

”กกร.จะเป็นผู้กำหนดปริมาณการครอบครองที่เหมาะสม ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น สถานพยาบาล ที่จำเป็นต้องใช้, ร้านขายยา, นิติบุคคล ที่ไม่เกี่ยวกับการขายยา อย่างผู้ค้าทั่วไป, บุคคลธรรมดา อย่างผู้ค้าทั่วไป และผู้ค้าออนไลน์ โดยการกำหนดมาตรการเช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันการกักตุน เพราะในช่วงนี้จะเห็นว่า มีการประกาศขายตามสื่อโซเชียลมากมาย บางรายระบุว่ามีสินค้าเป็นล้านชิ้น”

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาผู้ค้าหน้ากากอนามัยเกินราคาผ่านทางออนไลน์ว่า ได้ขอความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการตรวจสอบเพื่อให้ถึงตัวผู้กระทำผิดผ่านสื่อโซเชียล โดยต่อไป ผู้ค้าหน้ากากอนามัยผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใดๆ ก็ตาม ที่ขายเกินราคาตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อล่อซื้อได้จะส่งดำเนินการคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โดยจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ เจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซทุกราย ที่มีผู้ขายหน้ากากอนามัยค้ากำไรเกินควร เข้าข่ายมีความผิดมาตรา ฐานค้ากำไรเกินควร และมีความผิดฐานเดียวกันกับผู้ค้า รวมถึงผู้ที่เป็นอี-มาร์เก็ตเพลส เปิดให้ผู้ขายมาโพสต์ขายสินค้าและมีผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้า เสี่ยงมีความผิดกฎหมายอาญา หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด