พรรคกล้า ลุย“การเมืองสร้างสรรค์” สลายขั้วการเมือง

  • พีเค พรรคกล้า เปิด “ตลาดนัดสร้างสรรค์” 
  • ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ ครีเอทสินค้า มาวางจำหน่าย
  • พร้อมต่อยอดเปิดย่านวัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

นายพัสกร วรรณศิริกุล ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พรรคกล้า กล่าวว่า แคมเปญ ‘Creative Politics For Creative Thailand’ การเมืองสร้างสรรค์ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย และในฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ก็อยากเห็นประเทศไทยลดความตึงเครียดจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะการเมืองสร้างสรรค์เป็นทฤษฎีที่พยายามจะต่อสู้ความคิดแบบขาวดำเป็นอยู่ทุกวันนี้

“การเมืองสร้างสรรค์ในความคิดของผมก็คือ การวัดที่บุคคลว่าความคิดของเขาเป็นอย่างไร  แล้วการกระทำของเขาสะท้อนอะไร พวกเราในฐานะ ส.ส. หรือผู้แทนของประชาชน เราจะคาดหวังให้ประชาชนที่เราเป็นตัวแทนอยู่ร่วมมือกันได้อย่างไร เชื่อว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคคือผู้แทนของคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเรามองแค่พรรคเดียวมันจะต่างอะไรกับเผด็จการ ทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่ไม่เหมือนกันและเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางความคิดของคนไทย บางพรรคขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ บางพรรคต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม บางพรรคเน้นเรื่องศาสนา บางพรรคทำเรื่องเศรษกิจ แต่ละพรรคมีความคิดเห็นและมุมมองต่างกันในการจัดลำดับว่าอะไรสำคัญกว่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วการคิดต่างไม่ได้แปลวาเขาผิดหรือเลวร้าย เพียงแต่เขาอาจแค่คิดว่าบางอย่างควรรอและบางอย่างควรลงมือทำก่อน”

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายวงการ ทั้งจากพรรคการเมือง นักธุรกิจ คนในวงการบันเทิง ศิลปะ รวมถึงนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมครอบครัว เนื่องจากเห็นว่าเป็นแคมเปญที่น่าสนใจ จากนั้นได้ประชุมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น จากประสบการณ์ส่วนตัว โดยสิ่งที่อยากเห็นคือ ความเปลี่ยนแปลง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และปลดล็อคการทำธุรกิจสร้างสรรค์ ศิลปะ วัฒนธรรมร่วมสมัย ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อผลักดันแนวคิดไปสู่รูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการเสนอกันถึงการผลักดัน พรบ.ภาคประชาชนสักรูปแบบที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเป็นใบเบิกทางให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ปลดล็อคปัญหาไปไม่ได้สุดทางเหมือนที่ผ่านมา

นายพัสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพรรคกล้า ที่ได้ทำงานมาตลอดคือ 1. การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านความสร้างสรรค์ 2. การส่งออกธุรกิจสร้างสรรค์

ทั้งนี้จะมีการต่อยอดเปิดย่านวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศว่า ในเดือนกันยายนประเทศไทยจะเป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งแรกในต่างประเทศที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ซึ่งตนได้ทำงานร่วมกับโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการของ “Thai Creative Culture Initiative” หรือโครงการวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์ ศูนย์ฯ ของเราจะเป็นฮับที่จะสามารถเปิดเผยวัฒนธรรมไทย เช่น ห้องเรียนภาษาไทย, ห้องเรียนนวดไทย, ห้องเรียนมวยไทย และอื่นๆอีกมากมาย โดยจุดประสงค์ของศูนย์แห่งนี้คือ ไม่ต้องรอต่างชาติมาเมืองไทย แต่เราไปหาเขาถึงหน้าบ้าน ให้เขาเห็นว่าเมืองไทยมีความเจ๋งอย่างไรบ้าง นี่คือแผนที่เราจะยกระดับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ชีวิตวัยเกษียณของชาวต่างชาติ , การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์, การท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ, อุตสาหกรรมบันเทิงยามค่ำคืน จนไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเราจะนำจุดแข็งเหล่านี้ของไทยไปนำเสนอเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามมา 

“แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราจะเริ่มด้วยการเปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ หรือ Creative Market ที่เราจะทำโรดโชว์ ไปตามหัวเมืองใหญ่ในประเทศไทย โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ที่จะจัดต้นเดือนสิงหาคม ที่เราอยากจะจัดที่สวนสราญรมย์ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประการ คนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียสร้างสรรค์ ได้ครีเอทผลงานกันอย่างเต็มที่แล้วนำมาวางจำหน่าย เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน”