ผู้ปลูกข้าว มีเฮ! ธ.ก.ส.เตรียมจ่ายเงินประกันรายได้ครบทุกรายก่อนปีใหม่

  • คาดเกษตรกรได้เงินสูงถึง 55,000 บาทต่อครัวเรือน
  • เล็งปล่อยสินเชื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว 16ธ.ค.นี้

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังเร่งรัดการจ่ายเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต2563/64 และโครงการสินเชื่อคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว วงเงินกว่า 100, 000 ล้านบาท ให้ชาวนาที่ลงทะเบียน 4.56 ล้านครัวเรือน เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 64 ได้อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยจ่ายไปแล้ว 1.42 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 15, 000 ล้านบาท โดยในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะจ่ายเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตกค้างงวดที่ 2-4 อีก 2.4 ล้านราย วงเงิน 20, 400 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยจ่ายให้ครบทุกรายภายในสิ้นเดือนนี้

ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย ล่าสุด ได้จ่ายเงินให้กับเกษตรกรไปแล้วทั้งหมดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 4.56 ล้านราย รวมเป็นวงเงิน 28,000 ล้านบาท

“ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)​ ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยโครงการประกันรายได้ข้าวจากเดิม 18, 000 ล้านบาท เป็น 45, 000 ล้านบาทแล้ว ทำให้หลังจากนี้ธนาคารมีความพร้อมจะเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งประเมินว่า เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะได้รับเฉลี่ยจากทั้งเงินประกันรายได้ และเงินช่วยค่าบริหารไร่ละ 500 บาท สูงถึง 55,000 บาทต่อครัวเรือน”

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังเตรียมพร้อมมาตรการสินเชื่อที่เป็นมาตรการคู่ขนาน เพื่อดูแลเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเพิ่มเติม ซึ่งจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีทั้งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรได้ประมาณ 500, 000ราย แต่เบื้องต้นธ.ก.ส.จะมีเกษตรกรเข้าโครงการประมาณ 200, 000 ราย รวมถึงไปแล้วโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินอีก 15, 000 หล้านบาท ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 4 ธ.ค. ได้ปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปแล้ว 900 ล้านบาท

“ชาวนาเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่เข้าโครงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ตกค้างกว่า 2,000 ราย จากทั้งหมด 2.02 แสนราย จะได้รับเงินเยียวยา 50,000 บาท ภายในสิ้นปีเช่นกัน โดยผ่านมามีการจ่ายเงินดังกล่าวไปแล้ว 2, 820 ล้านบาท ให้กับเกษตรกร 199, 000 ราย”