ผู้ประกอบการสุดเซ็ง!พาณิชย์ไม่ได้งบกองทุนเอฟทีเอปี 64

  • ทำไม่มีเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
  • “จุรินทร์”สั่งศึกษาตั้งกองทุนหมุนเวียนไม่ต้องรอรัฐเจียดงบรายปี
  • หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ปีงบประมาณ 64 กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้รับการจัดรรงบเพื่อใช้ในกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนเอฟทีเอ กระทรวงพาณิชย์) ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคผลิต และภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบได้ ส่วนปีงบ 63 ได้รับจัดสรร 15.99 ล้านบาท มีผู้ประกอบการยื่นโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือทั้งหมด 5 โครงการ ในสินค้านมและผลิตภัณธ์ โคเนื้อ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว ผ้าทอยกดอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 62 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอในรูปแบบกองทุนหมุนเวียน ไม่ใช่รูปแบบปัจจุบัน ที่ต้องรอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ทำให้ในบางปี ไม่ได้รับการจัดสรร และไม่มีเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ

โดยล่าสุด กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนา และรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว 2-3 ครั้ง ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอแบบกองทุนหมุนเวียน โดยอาจจะให้ผู้ส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอ ช่วยกันลงขันเป็นทุนประเดิม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ประกอบกับ นโยบายของไทยจะหันมาเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อขยายการค้า การลงทุน แต่ในทางกลับกัน จะมีผู้ได้รับผลกระทบ ที่รัฐต้องเตรียมการช่วยเหลือ เยียวยา และลดผลกระทบให้ได้ คาดว่า จะสรุปผล และสามารถจัดตั้งได้ในเร็วๆ นี้
   

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า กองทุนเอฟทีเอ กระทรวงพาณิชย์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พ.ค.50 มีมติให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้ง มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารเงินช่วยเหลือ มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 50-63 ได้ให้ความช่วยเหลือสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ รวม 63 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 427 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าเกษตร 32 โครงการ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม ชา ข้าว ส้ม ลิ้นจี่ สับปะรด หอมแดง กระเทียม เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ ปลาน้ำจืด น้ำผึ้ง ไม้ดอก กาแฟอาราบิก้า และมะพร้าว,  สินค้าอุตสาหกรรม 22 โครงการ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง ปลาป่น ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ เครื่องสำอางสมุนไพร พลาสติก สิ่งทอ และอิฐมอญ และภาคบริการ 9 โครงการ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว ก่อสร้าง วิศวกรรม และโรงแรม