ผลสุ่มตรวจไส้กรอกทั่วไทย อย.พบตกมาตรฐาน 22 จาก 44 ตัวอย่าง เร่งดำเนินคดี

  • พบเชื่อมโยงเด็กป่วย
  • มีเป็นสารห้ามใช้ในไส้กรอก
  • สถานที่ผลิตที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย.

วันที่ 13 มี.ค.2565 ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี พบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน จำนวน 14 ราย ใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ รายละเอียดฉลากไม่ครบถ้วน นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ดำเนินการสืบหาสถานที่ผลิตไส้กรอก และเก็บตัวอย่างไส้กรอกทั่วประเทศทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย จำนวน 102 ตัวอย่าง ได้รับผลวิเคราะห์มาแล้ว 44 ตัวอย่าง ตกมาตรฐาน 22 ตัวอย่าง

“นอกจากนี้ ยังพบมีการใช้เนื้อไก่แต่แสดงฉลากลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อหมูอีก 1 ตัวอย่าง และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด” ภก.วีระชัย กล่าวและว่า ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ใช้ไนไทรต์เป็นสารกันเสียได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ส่วนไนเทรต และกรดเบนโซอิก ไม่อนุญาตให้ใช้ในไส้กรอก หากฝ่าฝืนต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากตรวจพบในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า แนะนำการเลือกซื้อไส้กรอก ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดง
เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบ และข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ

“ส่วนผู้ผลิตต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ขออนุญาตผลิตให้ถูกต้อง ควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน GMP และแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด” ภก.วีระชัย กล่าว

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการผลิตไส้กรอกทั่วประเทศ อย.ได้จัดอบรม เรื่อง “ไนไทรต์และเบนโซเอต ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์” ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 09.30-12.00 น. ผ่านระบบ zoom และเฟซบุ๊ก ไลฟ์: FDA THAI อบรมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือ สสจ.ทั่วประเทศ