ผบ.ตร. ถก มาตรการ ป้องกันลักลอบขนส่งยาเสพติด

  • รูปแบบขนส่งยาเสพติด เปลี่ยนไป
  • ตำรวจระดมความร่วมือ 16 หน่วยงาน
  • กำหนดมาตรการป้องกันลักลอบ

เมื่อวันที่. 19 มิ.ย. 2563 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผบช.ปส. จัดการประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถานประกอบการที่ให้บริการด้านไปรษณีย์พัสดุภัณฑ์และระบบขนส่ง (Logistics) ภาคเอกชน 16 แห่ง รวมทั้งผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีก 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมการขนส่งทางบก การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมการปกครอง และกรมสรรพากรเพื่อหาแนวทางและกำหนดมาตรการร่วมกันในการป้องปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านช่องทางการขนส่งพัสดุภัณฑ์ โดย การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติด

พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์รองโฆษก กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)กล่าวว่า จากสภาวการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบัน ที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าการค้ายาเสพติดมีการปรับเปลี่ยนวิธีการลักลอบขนยาเสพติด โดยใช้รูปแบบการขนส่งผ่านทางผู้ประกอบการ รับ-ส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวน และสามารถจับกุมผู้ที่ลักลอบขนส่งยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง

พ.ต.อ.ธีรเดช กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  มีผลการจับกุมสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดพัสดุภัณฑ์และไปรษณีย์ได้มากถึง 267 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 200 กว่าคน ทั้งนี้เป็นยาบ้จำนวน 1,700,000 เม็ด โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่าการกระทำความผิดในรูปแบบดังกล่าว มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้ผบ.ตร. จัดการประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถานประกอบการที่ให้บริการด้านไปรษณีย์พัสดุภัณฑ์และระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ภาคเอกชน 16 แห่ง รวมทั้งผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีก 13 หน่วยงาน เพื่อหาแนวทางและกำหนดมาตรการร่วมกันในการป้องปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านช่องทางการขนส่งพัสดุภัณฑ์

” การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติด โดยใช้การบริการขนส่งเป็นเครื่องมือหรือกรณีที่เกิดเหตุแล้ว จะสามารถสืบสวนขยายผลติดตามกลุ่มผู้กระทำความผิดได้ โดยอาศัยข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีประสิทธิภาพและบรรลุผลอย่างชัดเจน”