ปี 64 โต 1.6% สูงกว่าคาด…เม็ดเงินมาจากไหน

วันจันทร์ที่ 21 ก.พ.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้รายงานการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย ประจำไตรมาส ซึ่งตัวเลขล่าสุดที่ออกมาในไตรมาสที่ 4 ของปี2564 ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยของเราขยายตัวได้ถึง 1.9% ส่งผลให้ในภาพรวมทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2%

โดยในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยของเราขยายตัวติดลบ 2 ไตรมาสเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 และติดลบ1 ไตรมาส หากคิดเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจติดลบของไทย ไม่ถือว่าเป็นการเข้าสู่“เศรษฐกิตถดถอย” ตามนิยาม เนื่องจากการติดลบ 2 ไตรมาสนั้น เป็นการติดลบแบบไตรมาสเว้นไตรมาส ไม่ได้เกิดขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกัน

โดยไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 2.4%  เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.7% มื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของปี 63 นั้น เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดสูงที่สุด โดยติดลบไปถึง 12.3% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี 64 อยู่ในภวะทรงๆ ขยายตัว 0% หรือ ไม่ขยายตัวนั่นเอง

เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทย เผชิญหน้ากับโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยติดลบอีกครั้ง โดยเป็นการติดลบทั้งเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า โดยติดลบ0.2% และติดลบ 0.9% ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 4 ไตรมาสุดท้ายถือเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัว 1.8% และขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ดังนั้น เมื่อมองตัวเลขทั้งปี เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเห็นว่าอยู่ในระดับซึมๆ ไม่แตกต่างจากปี 63 มากนัก เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลให้สังคมไทยอยู่ใน” ความเครียด” ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเศรษฐกิจจะมีโอกาสขยับขึ้นได้บ้าง ในช่วงที่การแพร่ระบาดทั่วโลกลดลง หรืออยู่ในภาวะที่คุมได้เท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้ง ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยน “แนวคิด”และ “แนวนโยบาย” จากความพยายามควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ให้น้อยที่สุดเป็น การอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยไม่มีการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ

ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น จากเดิมที่พยายามคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในหลักร้อย วันนี้เราสามารถปล่อยให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นในหลักหมื่นคนต่อวัน โดยยังไม่มีมาตรการ “ปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” เพื่อให้เกิดการขยับและหมุนของเม็ดเงินที่มีอยู่จำกัดออกไปให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวมีข้อจำกัด เพราะจะทำได้ต่อเนื่องก็ต่อเมื่อ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เกินกว่าความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ส่วนคำถามที่ว่า การเติบโตในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น เม็ดเงินหลักมาจากไหนนั้น มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะมาจากเศรษฐกิจจริง จากเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบจากการส่งออก เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี โดยโดยในปี 64 มูลค่าการส่งออก ขยายตัวสูงถึง18.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีขยับขึ้นมาอยู่ที่  427,900 คน โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ทั้งสิ้น 342,024 คน ขณะที่ในประเทศนั้น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 และเฟส 3 ช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนทั้งปีขยายตัวได้ 0.3%

ขณะเดียวกัน ส่วนที่ 2  “เม็ดเงิน” ที่เข้าสู่ระบบ แต่ซึ่งส่วนนี้อาจจะเป็นเงินที่มีทั้งข้อดี และข้อเสีย คือ เงินที่มาจากสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มขึ้นทั้งในระบบ และนอกระบบ หรือเพิ่มขึ้นจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง 

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค 

แต่การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินจากการ “เป็นหนี้” ของคนไทย ทำให้ทั้ง ธปท. และสภาพัฒน์ กำลังจับตาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูง และหาทางที่จะกดตัวเองลง โดยในไตรมาส 3ของปีที่่ผ่านมาซึ่ง อยู่ที่ 89.3% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 78.8% เเพราะในที่สุด หากจำนวนหนี้สูงขึ้นมากไป ด็อาจจะกลับมากระทบความสามารถในการใช้จ่ายของคนไทยให้ลดลงได้ในอนาคต

มาถึง “พระเอกตัวจริง” ของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังเป็นการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยรัฐมีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลขยายตัว 8.1% ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.8%  โดยการใช้จ่ายที่สำคัญของภาครัฐ มาจากผลกระทบของโควิด -19  ทั้งการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายรักษาโรคโควิด-19  และเม็ดเงินโครงการกระตุ้นเศรษกิจต่างๆ ที่ใช้เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาโควิด-19 

โดยการใช้เงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดในปี 63-64 นั้น ล่าสุดมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ในภาพรวม ในปี 63 เบิกจ่าย 1.9 แสนล้านบาท ในปี 64 เบิกจ่าย 2.7 แสนล้านบาท รวมกันประมาณ 4.6 แสนล้านบาท โดยเงินค่ารักษาเหล่านี้ เบิกทั้งจากการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท งบกลาง และงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ขณะที่การติดตาม การใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ (ก้อนที่ 1 ล้านล้านบาท) สิ้นสุดในปี 2564 มีการอนุมัติเงินกู้แล้ว 9.82 แสนล้านบาท เบิกจ่ายจริงแล้ว 9.44 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งอาจจะมีล่าช้าไปบ้างจนถึงเดือนก.ย. 65 ซึ่งเป็นส่วนน้อย ส่วนพ.ร.ก.เงินกู้ (ก้อนที่ 2) 5 แสนล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท ยังเหลือเงินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

เท่ากับรัฐบาลเบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้วทั้งสิ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้จ่ายเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 13.34 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจีดีพีรายปีของไทยที่ประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท

ส่งท้ายด้วย แนวโน้มของปี 2565 นี้ สภาพัฒน์ให้ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.5-4.5% คิดตามค่ากลางอยู่ที่ 4%  โดยหวังการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง การใช้จ่ายในประเทศที่กลับมาจากการเปิดเศรษฐกิจต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางและไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีสูง และที่สำคัญคงต้องจับตาความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย แหล่งเม็ดเงินทั้งแหล่งเก่า และเม็ดเงินใหม่ๆ ที่จะเข้าเติมช่องว่างรายได้เดิมให้เต็มว่าจะมาจากไหน เพราะงบของรัฐบาลที่มีก็ “จำกัดจำเขี่ย” เหลืออยู่ไม่มากเท่าที่ควร