ปิดเศรษฐกิจช่วยได้ไหม หากโควิด-19 ระบาดรอบสอง

ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่เฟส 4 ของการผ่อนคลายมาตรการปิดเศรษฐกิจที่ดำเนินการในช่วงก่อนหน้า เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 โดยในที่สุด หลังการประกาศใช้เคอฟิวส์มายาวนาน (จนหลายคนเริ่มชินๆ กับการกลับบ้านเร็วกันแล้ว) ตั้งแต่ 00.01 ของวันที่ 15 สถานการณ์ดังกล่าวได้เข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับการผ่อนคลายในเฟส 4 นี้ ต้องเรียกว่า เรากลับเข้าสู่ “ความปกติ” ตามวิถีใหม่แล้วประมาณ 80% อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดอีก 15 วัน หรือในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ก่อนให้เปิดบริการอีกครั้ง หรือในเฟสที่ 5 

และอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก คือ การเปิดรับต่างชาติ และนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะรายได้ส่วนนี้ถือเป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงที่ผ่านมา 

โดยคาดการณ์กันว่า ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังอยู่ในขาขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ คาดว่าจะเริ่มได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แต่ในเบื้องต้น น่าจะเริ่มกลับมารับการเดินทางของนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หรือที่เรียกว่า Travel Bubble

ขณะเดียวกัน ประสบการณ์จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มการระบาดรอบสอง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อแบบกลุ่มจำนวนมากถึง 57 รายจากตลาดสดแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง

ทำให้มีคำถามว่า หากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของไทยในเฟสที่ 4 และเฟสที่ 5 แล้วเราเกิดพบการระบาดแบบกลุ่มก้อนอีกครั้งในอัตราที่สูง 3 หลัก รัฐบาลควรตัดสินใจกลับมาล็อกดาวน์เมือง หรือปิดธุรกิจอีกครั้ง เพื่อหยุดการแพร่ระบาด เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเป็นศูนย์อีกครั้งหรือไม่ หรือจะเปิดธุรกิจต่อไป เพื่อรักษาธุรกิจและภาคแรงงาน

คำตอบ ณ วันนี้ มีหลากหลายหนทาง ทั้งซ้ายขวาสุดโต่ง และทางสายกลาง!!

ในทางหนึ่ง หากอ้างอิงจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนในช่วงปี ค.ศ 1918-1920 หรืแประมาณร้อยปี ที่่ผ่านมา ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 40 ล้านคนนั้น เกิดจากการระบาดในรอบ 2 และรอบที่ 3 มากกว่ารอบแรก ดังนั้น การตัดไฟไม่ให้ลาม จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการควบคุมโรค

แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบสาธารณสุข และการติดตามโรคเมื่อร้อยปีที่่ผ่านมาแตกต่างจากในปัจจุบันมาก  และขณะนั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1

ขณะที่อีกหนทางหนึ่ง อ้างอิงจากการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity เป็นสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรมีภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้น หรือมีการติดเชื้อแล้วหายโดยไม่แสดงอาการจำนวนมากพอ ทำให้ไวรัสแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้น้อยมาก หรือไม่ได้เลยในที่สุด

โดยในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งมีการเปิดเศรษฐกิจกลับมาแล้วในระดับหนึ่ง เริ่มที่จะตรวจหาภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรของทั้งสองประเทศ เพื่อที่จะสามารถเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องกังวลต่อการระบาดในรอบที่ 2 หรือรอบต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของทั้งฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ยังไม่พบจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเกิด herd immunity โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การกิด herd immunity  จะต้องพบผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 50-70% จากทั้งหมด  ถึงจะมีความมั่นใจว่าเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจากวิธีนี้ได้

ขณะที่หนทางที่ 3 ซึ่งมองจากฝั่งเศรษฐกิจ มองในทิศทางของภาคแรงงาน การดำรงชีพของคนทั่วไป และมาตรการเยียวยาของรัฐ  

ในแง่นี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาเจ้าของกิจการ ตั้งแต่รายใหญ่สุดในประเทศ ลงมาถึงเอสเอ็มอี มองว่า หากการระบาดไม่รุนแรงจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้ การกลับไปปิดเศรษฐกิจ ปิดเมือง ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเช่นเดิม จะส่งผลกระทบต่อประเทศรุนแรง และการปิดเมืองอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลที่จะได้

เพราะการปิดทุกอย่างรอบสอง ซ้ำเติมกับรอบแรก จะส่งผลให้เกิดจำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ทั้งจากธุรกิจรายใหญ่ และรายกลาง รวมทั้งทำให้สายป่านของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมรับไม่ไหว แม้รัฐจะเปิดโอกาสให้พักชำระหนี้ หรือขอเงินใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนก็ตาม และกำลังซื้อที่ลดลงทันทีจำนวนมาก จะทำให้เศรษฐกิจไทยซึมยาวไปหลายปี มากกว่าที่จะฟื้นได้เป็นตัว V หรือ U อย่างที่คาดไว้

ขณะเดียวกัน มองว่าการเยียวยาโควิด-19 ในรอบแรกนี้ รัฐบาลได้ใช้เงินในการเยียวยาไปแล้วจำนวนมาก และอาจจะเกิดความยากลำบากทั้งในแง่การเงิน และการเมืองที่จะขอกู้เงินก้อนใหม่เพื่อใช้เยียวยาในการปิดเมืองครั้งที่ 2 

และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ นักธุรกิจส่วนใหญ่แสดงความเชื่อมั่นในระบบติดตาม และควบคุมโรคของรัฐบาลไทย รวมทั้งการดูแลสุขภาพและเว้นระยะห่าง ว่าถึงแม้จะเกิดการระบาดรอบสองแบบเป็นกลุ่มก้อน ระบบการติดตามสอบสวนโรค และมาตรการติดตามผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการรักษาของแพทย์ไทยสามารถยับยั้งไม่ให้การระบาดลุกลาม หรือหยุดยั้งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจส่วนหนึ่งก็ยังวิตกต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากไม่มีการกักตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม และเห็นด้วย หากจะมีการปิดกิจการในบางสถานที่ หรือบางประเภทที่มีส่วนก่อให้เกิดการระบาดรอบใหม่ หรือพบความเสี่ยงที่สูงเกินไป หากเปิดให้บริการ

แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเลือกแนวทางไหน หากเกิดการระบาดรอบสองรุนแรงอีกครั้ง คงต้องขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ทางที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด คนไทยจึงต้อง “การ์ดอย่าตก” อย่าลดความระมัดระวัง อยู่ในห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก จนกว่าเราจะพบวัคซีนที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างถาวร