“ปานเทพ” เตือนสติกรณีดราม่า “เด็กถ่ายรูปตุ๊กตากัญชา” อย่าลืม “กัญชา”สามารถรักษาโรคในเด็กได้ด้วย


3 กรกฎาคม 2565 นายปานเทพ พัวงพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ค ส่วนตัว ระบุถึงกรณี “เด็กถ่ายรูปตุ๊กตากัญชา” โดยมีเนื้อหาดังน

จากกระแสข่าวการหยิบยกกรณีที่มีภาพนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ไปถ่ายภาพในงานกัญชา โดยมีนักเรียนมาถือ “ตุ๊กตาใบกัญชา”ว่ากรณีการนำเด็กมาในงานกัญชาและปรากฏการถ่ายรูปนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ จึงเห็นว่ากรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังต้องการข้อมูลและความรู้อย่างถูกต้อง ในการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ

เพราะในงานดังกล่าวนั้นไม่ปรากฏว่ามีการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีให้ใช้กัญชาเพื่อเป็นอาหาร หรือเพื่อนันทนาการแต่ประการใด แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าต้องการให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ และเพื่อเศรษฐกิจ ส่วนนเด็กเยาวชนควรจะได้รับ “ความรู้”อย่างถูกต้อง มิใช่มีแต่ “ความกลัว” จนมองไม่เห็นคุณค่าในประโยชน์ของกัญชาและกัญชง ที่อาจช่วยแก้เจ็บ แก้จนคนในครอบครัวได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกมาตรการการห้ามเข้าถึงกัญชาในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นประโยชน์ทางการแพทย์ ดังปรากฏตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้ระบุเอาไว้ว่ามิให้จำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี แต่ก็อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการจ่ายยาให้กับเด็กได้[๑]

แต่ด้วยเพราะในช่วงที่ประเทศไทย “ขังกัญชา”เอาไว้เป็นยาเสพติดจนแทบไม่ได้วิจัยหรือพัฒนามาหลายสิบปี หรือบางส่วนได้ถูกล้างสมองหรือมีแต่ทัศนะที่ต่างชาติฝังเอาไว้ว่า กัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง เป็นอันตรายจนไม่สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ใดๆได้

โดยก่อนหน้าปี ๒๕๖๒ เป็นเวลาหลายสิบปีที่ตำรับยาไทยที่มีกัญชาไทยเป็นส่วนผสมได้ “ถูกยกเลิกไปทั้งหมด” แต่ในทางตรงกันข้ามกัญชาและกัญชงในต่างประเทศกลับได้ถูกพัฒนาเป็นยารักษาโรคในเด็กได้อย่างน่าอัศจรรย์ อีกทั้งบริษัทต่างชาติได้มีการจดสิทธิบัตรยากัญชาในต่างประเทศเอาไว้แล้วจำนวนมากและยังมีความพยายามเข้ามาจดสิทธิบัตรในประเทศไทยเพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันได้จ่ายยาให้คนไข้ในราคายาที่แพงด้วย

แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันตอกย้ำว่าเด็กและเยาวชนไม่ควรจะใช้กัญชาเพื่อความมึนเมาหรือเพื่อนันทนาการ จนเด็กๆที่ไม่ได้เจ็บป่วยใดๆควรจะต้องห่างจากกัญชา และจะต้องบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่จำหน่ายหรือให้กัญชากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี แต่ก็ต้องไม่ลืมเสมอว่ากัญชายังมีประโยชน์มหาศาลสำหรับการรักษาโรคในเด็กด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะเด็กที่มีความผิดปกติ เช่น โรคลมชัก ลมบ้าหมู หรือออทิสติก ฯลฯ ที่สร้างความทุกข์ใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลก แต่กลับพบว่ากัญชามีประโยชน์ในการบรรเทาอาการผิดปกติเหล่านี้ในเด็กด้วย โดยมีราคาที่ไม่แพง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้)

ข้อสำคัญหลายตำรับยาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็น ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ปรากฏใน “ตำรับยาแผนไทยของชาติ”ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ลงนามโดย นายแพทย์ปิยสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นตำรับยาที่มีการยอมรับแล้วว่า“มีคุณค่าเป็นพิเศษ” ประกอบไปด้วยทุกตำรับยาใน พระคัมภีร์ประถมจินดา, พระคัมภีร์สรรพคุณ, และพระคัมภีร์ชวดาร[๒]

เพราะการประกาศว่าเป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” นั้น มีสถานภาพถูกรับรองโดยกฎหมาย โดยอาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามมาตรา ๑๗ ว่าหมายถึง “มีการใช้ประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ”[๓]

โดย “กัญชา” ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์พระคัมภีร์ ประถมจินดา ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ว่าด้วยการักษาเด็ก ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะรัชกาลที่ ๕ โดยได้อธิบายตำรับที่มีการนำกัญชาเข้าเป็นส่วนผสมความว่า

“๏ ยาชื่อไฟอาวุธ ขนานนี้ท่านให้เอา ผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ ชะเอมเทศ “กัญชา” แก่นเแสมทะเล เอาสิ่งละส่วน อุตพิต สมุลแว้ง ดีปลี ใบพิมเสน เอาสิ่งละ ๒ ส่วน รากจิงจ้อ รากส้มกุ้ง รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากสะค้าน รากพาดไฉน เอาสิ่งละ ๓ ส่วน หัสคุณเทศ ๔ ส่วน บุกรอ ๙ ส่วน พริกไทย ขิงแห้ง เจตมูล เอาสิ่งละ ๑๖ ส่วน

รวมยา ๓๒ สิ่งนี้ จำเป็นจุณเอาน้ำมะนาวเปนกระสาย บทปั้นแท่งไว้กินแก้ทรางทั้ง ๗ จำพวก แก้ตานโจรทั้ง ๑๒ จำพวก แก้หืดน้ำนมทั้ง ๗ จำพวก แก้ไอผอมเหลือง แลแก้ไส้พองท้องใหญ่ แก้พุงโร แลลมจุกเสียด แลแก้ป้าง แก้ม้าม แลดานเสมหะให้ปวดมวนเสียดแทง แลแก้อุจจาระเป็นเสมหะโลหิต ระคนกัน มักให้ถอยกำลังแลมักให้เป็นไข้ไม่รู้สึกตัว ให้ลงเป็นโลหิตแลไข้เพื่อเสมหะ ลมโหด ถ้าได้กินยาขนานนี้ หายสิ้นทุกประการวิเศษนัก๚”[๔]

นอกจากนั้นยังมีตำรับยาว่าด้วย “ธาตุลม”ในพระคัมภีร์ชวดาน ในการรักษาโรคตานทราง โดเพื่อทำให้เด็กกินข้าวได้ กินนมได้ นอนหลับ โดยนอกจากจะมีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้ว บางกรณียังมีฝิ่นเป็นส่วนประกอบด้วย ความว่า

“๏ ยาแก้ทรางกินข้าวมิได้ กินนมมิได้ มิให้นอนหลับ เอา ถั่วพู ๑ โกฐ ๑ กัญชา ๑ น้ำตาลทราย ๑ บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกิน ถ้าลงท้องเอาฝิ่นรำหัดลง แก้พิการ ตานทรางทั้งปวงแล๚”[๕]

ตำรับยาทั้ง ๒ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจัดเป็น “ตำรับยา”ในตำรายาหลวงสำหรับเด็ก มีฐานะตามกฎหมายเป็นตำรับยาของชาติ ในตำรายาของชาติ ไม่จำเป็นให้เด็กต้องเป็นศัตรูกับกัญชาเสมอไปโดยเฉพาะสำหรับการรักษาโรคในเด็ก ที่ปรากฏตามประวัติศาสตร์ชาติไทยถ่ายทอดลงมาจากรุ่นสู่รุ่น

สำหรับ “สรรพคุณกัญชา” ได้ถูกเขียนบันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัช ตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะฆ์ รัชกาลที่ ๕ ความตามช่วงแรกว่า

“๏ กันชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั่นเปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ…”[๖]

“วาโยธาตุ” กำเริบนั้น มีความหมายถึง “ธาตุลม” ผิดปกติในทางมากเกินไป ในทางภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่สรรพสิ่งประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

และคำว่า “ธาตุลม” นั้นหมายถึงธาตุที่เกี่ยวกับ “การเคลื่อนไหว”โดย ได้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมศัพท์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า

“ธาตุลม น. สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายส่วนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง ๔ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มี ๖ ชนิดได้แก่ ลมพัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ (อุทธังคมาวาตา) ลมพัดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า (อโธคามาวาตา) ลมพัดในท้องแต่พัดนอกไส้ (กุจฉิสยาวาตา) ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร (โกฏฐาสยาวาตา) ลมพัดทั่วสรีระกาย (อังคมังคานุสารีวาตา) และลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสวาตา, วาโยธาตุ ก็เรียก”[๗]

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้วคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิบายเรื่องธาตุลมเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันความว่า

“วาตะ” (ลม) แปลว่า เคลื่อนไหว เปรียบได้กับ “ลมประสาท (nerve impulse)” รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย “วาตะเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดในตรีธาตุ” เป็นแหล่งกำเนิดของ กำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ”[๘]

“หน้าที่ของวาตะ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ เช่น การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมจิตใจ ความรู้สึก ความเข้าใจ และรับความรู้สึกของสัมผัสทั้ง ๕ (คล้ายกับระบบประสาท) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของอวัยวะร่างกายทุกส่วน ควบคุมจิตใจให้มีสติ ให้มีสมาธิ ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ รับความรู้สึกถูกต้อง เป็นที่เกิดแก่ความชื่นชมยินดี ร่าเริง เป็นเครื่องกระตุ้นไฟของร่างกาย ช่วยกำจัดโทษของร่างกาย ทำให้เกิดการปฏิสนธิหรือตั้งครรภ์ ช่วยประคับประคองให้ชีวิตมีความปกติ”[๘]

ดังนั้น “ธาตุลม” จึงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทุกสิ่งของร่างกายในมนุษย์ ดังตัวอย่างกิจกรรมของธาตุลมที่เป็นรูปธรรมเช่น

“การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดหดของกล้ามเนื้อแขนขา การกระพริบตา การไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง การขับเหงื่อ การควบคุมการพูด การออกกำลัง การเคลื่อนไหวของท่อและต่อมเหงื่อควบคุมความร้อนของร่างกาย ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ควบคุมกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ช่วยในการย่อยอาหารร่วมกับปิตตะ (หมายถึงระบบความร้อน – ผู้เขียน) และยังทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและหลั่งน้ำกาม ขับปัสสาวะ ขับอุจจาระ ขับโลหิตระดูของสตรี และเป็นลมเบ่งในการคลอดลูก”[๘]

แม้ในการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนปัจจุบันอาจจะเรียก “สมมุติบัญญัติ” ต่างกัน แต่เชื่อว่าจะต้องมีการสื่อสารในสิ่งที่มีอยู่จริงเหมือนกัน

“Epilepsy” ในภาษาไทยก็มีสมมุติบัญญัติในโรคภาษาไทยว่า “ลมชัก” หรือ “ลมบ้าหมู” ดังนั้นการกำหนด “ธาตุลม” กำเริบนั้นย่อมหมายถึงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่คนในยุคโบราณเขาไม่ได้เรียกชื่อฝรั่งว่า Epilepsy เท่านั้น

ซึ่งในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศได้มีการจดสิทธิบัตรกัญชาในการรักษาโรคแล้วจำนวนมาก และได้พยายามจดซ้ำในประเทศไทยเพื่อไม่ให้มีใครมาละเมิดได้ รวมถึงโรคลมชักด้วย[๙]



ด้วยเงื่อนไขนี้การจดสิทธิบัตรการใช้กัญชาในส่วนของพืชเต็มส่วนเพื่อรักษาโรคลมชักในประเทศไทย จึงไม่สามารถจะกระทำได้ ด้วยเพราะประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรกัญชาเต็มส่วนสามารถรักษาโรคลมชักได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใช้สารสกัดตัวใดตัวหนึ่งออกมาจดสิทธิบัตรของบริษัทยาข้ามชาติด้วยการรักษาด้วยค่ายาที่แพงแต่ประการใด

ในต่างประเทศในครอบครัวที่มีเด็กเป็นโรคลมชักในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา สหรัฐอเมริกา หลายครอบครัวเรียนรู้ที่จะปลูกกัญชาเอง รวมถึงการสกัดเบื้องต้นอย่างง่ายในการรักษาเด็กโรคลมชักในครอบครัวเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินในราคาที่แพงให้กับยาที่มีสิทธิบัตรของกลุ่มทุนยาแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย

ดังนั้นขอให้คนไทยได้ตั้งสติ และรู้เท่าทันการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ เพราะไม่เพียงกัญชาเท่านั้นที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเองก็มีความเข้าใจอยู่แล้ว ว่า “ทุกสมุนไพร” มีทั้งสรรพคุณ (ประโยชน์) และ แสลง (โทษ) ดังนั้นจึงอยู่ที่การให้ “ความรู้” ไม่ใช่มีแต่ “ความกลัว”ให้กับสังคม