ปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วกว่านี้

หลังจากที่ผู้ติดเชื่้อรายใหม่แตะหลักพันต่อเนื่องมากแล้ว 16 วัน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่สะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึง 2 พ.ค.64 เพิ่มขึ้น สูงถึง 40,121 ราย ความกังวลในการควบคุมการระบาด และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตยิ่งมีสูงมากขึ้น

ทั้งในด้านข้อจำกัดทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่แม้ว่า ที่ในด้านวัตถุเราจะสามารถเพิ่มโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นได้ และมีข้อจำกัดที่จำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะไม่เพียงพอ

ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ที่ยังรอดจากการติดโควิด ก็ดำรงชีวิตยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจากการ “ลดจำนวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” อีกครั้ง เพื่อควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ท่ามกลางการตั้งข้อสงสันถึงความสามารถของรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่เริ่มข้อจำกัดมากขึ้น

และจนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดกล้าคาดการณ์ว่า “พายุผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบเดือน เม.ย.นี้” จะจบลงตรงไหน อีก 14 วันหลังจากนี้ จะเป็น “จุดวกกลับ” ของจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงต่อเนื่องได้หรือไม่

หลายคนก่นด่าถึง “ทิศทางการป้องกันการแพร่ระบาด และการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า” ขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจรัฐบาลกลับเว้นระยะห่างของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ช้าลง

อย่างไรก็ตาม หากให้ความเป็นธรรม ต้องยอมรับว่า หลังจากที่การระบาดระลอกที่ 2 จบลงได้เร็ว ภายในเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานล่าสุด เมื่อสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน

ทั้งในด้่านการใช้จ่าย การลงทุน และภาคการผลิต ส่วนหนึ่งจากความมั่นใจของประชาชนคนไทย และรัฐบาลไทยที่ประเมินว่า “เราสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว” รวมทั้งปัจจัยบวกอีกด้านจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดในเดือน มี.ค.การส่งออกของไทยขยายตัวสูงกว่า 15% ขณะที่การผลิต และการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกด้าน

นอกจากนั้น ทั้งแผนการฉีดและกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป็นแผนที่ตั้งบนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวต่อเนื่อง และการเตรียมการเพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

แต่เมื่อสถานการณ์หักหัวเลี้ยวกลับ เกิดการระบาดในรอบที่ 3 เร็วและแรงกว่าทุกครั้ง แน่นอนว่า แผนของรัฐบาลที่ข้ามช่วง “ควบคุม” ไปสู่ช่วง “ฟื้นฟู” จึงเป็นสถานการณ์ที่ทำไม่ได้อีกต่อไป และที่สำคัญคือ การกลับตัวของรัฐบาลยังคงล่าช้ากว่ามาก เมื่อสถานการณ์การระบาด และภาพรวมเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว

การปรับแผนการฉีด และการจายวัคซีนที่ยังไม่ทันใจ เพราะ ณ วันนี้ หลายคนมองว่า เมื่อเรามีวัคซีนจำนวนหนึ่งอยู่ในมือแล้ว ทำไม่ไม่เร่งเพิ่มสถานที่ และจำนวนการฉีดวัคซีนในแต่ละวันให้เพิ่มขึ้น ทำไมยังต้องใช้ไทม์ไลน์เดิมในการจอง และฉีดวัคซีนอยู่

ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจ 1 เดือนที่ผ่านมา สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจเกือบทุกสำนักประเมินว่า สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยไทยไม่ต่ำกว่า 100,000 -120,000 ล้านบาท ขณะที่ ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ หรือโครงการ ม.33 เรารักกัน ในการสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่ำลงมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ออกจากบ้าน และลดการใช้จ่ายลง

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการถึงผลกระทบของโควิดระลอกที่ 3 ของธปท.ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ป่านมา พบว่า ภาคการค้า และธุรกิจบริการได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเริ่มกระทบต่อยอดขาย เนื่องจากการระบาดรระลอกที่ 3 ระบาดในวงกว้างมากกกว่าระลอกที่ 2 และที่ผ่านมากำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

โดยขณะนี้ห้างสรรพสินค้า ยอดขายลดลงน้อยกว่า 70% ของช่วงเวลาปกติ ขณะที่หาบเร่ แผงลอยยอดขายกลับมาน้อยกว่า 50% ของช่วงเวลาปกติ และคาดว่าจะปรับลดลงอีกในระยะต่อไป

ขณะที่ภาคบริการนั้น โควิดระลอกที่ 3 มีผลกระทบมากกว่าที่คาด โดยหลังหยุดยาวมีการระบาดสูงขึ้น โรงแรมที่พัก มียอดจองลดลงเหลือน้อยกว่า 10% ร้านอาหารกระทบจากการจำกัดเวลาให้บริการ และการงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ และอาจจะมีผลกระทบมากขึ้น ในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ไม่ให้นั่งทานในร้าน โดยสมาคมภัตตาคารไทยประเมินว่า มาตรการดังกล่าวทำให้รายได้ของร้านอาหารหดหายไป 1,000 ล้านบาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งความเสียหาย ลดจำนวนคนตกงาน และประคับประคองการใช้จ่ายของภาครัฐ ณ วันนี้ยังไม่เห็นมาตรการใดที่เป็นรูปธรรม

มีเพียงการประเมินภาพผลกระทบ และการเตรียมการต่ออายุมาตรการเดิม คือ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ซึ่งเชื่อว่า ในภาวะวิกฤตของการระบาดเชื่อว่า อาจจะไม่ได้ผลสำเร็จเท่ากับโครงการใน 2 เฟสแรก ขณะที่มองว่ามาตรการอื่นๆ ยังรอได้ และขอใช้เวลาในการพิจารณาอีกระยะ

แสดงให้เห็นว่า “ทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาลออาจจะประเมินภาพแบบ “หลงประเด็น”

เพราะในขณะนี้ “สายป่าน” ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสั้นลงๆ ทุกที หลายบริษัท หลายร้านอาหาร หลายโรงแรม แม้จะปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่เปอร์เซนต์ที่จะกลายเป็นหนี้เสีย เพราะต้องปิดกิจการถาวร กลับมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น มาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบของประชาชน และผู้ประกอบการในการระบาดรอบที่ 3 ควรจะเป็นมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ตรงจุดและรวดเร็ว ในลักษณะเดียวกับการระบาดรอบแรก หรือมากกว่า

เพราะถ้ารัฐบาลจะตั้งโจทย์ทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นว่า “ครั้งนี้ไม่ได้ล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิวส์ ไม่มีการปิดเมือง” รัฐบาลยังปล่อยให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “คุณมาผิดทางแล้ว” เพราะภายใต้การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักพันต่อเนื่อง “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ”ใดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งนั้น

เข้าสู่เดือนที่ 2 ของการระบาดรอบใหม่ หวังว่า “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลคงจะเริ่มตั้งหลักได้ และปรับแนวคิดให้สามารถบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้ทันท่วงที ด้วยความเร็วและขนาดของมาตรการที่เพียงที่จะรองรับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ก่อนที่ประเทศไทยจะตายกันหมด

#Thejournalistclub #โควิด19#วัคซีนโควิด#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ