“ประสงค์” จ่อเพิ่มคนพิการ – ชรา -ไร้บ้าน รับเงินเยียวยาโควิด

  • เร่งดูแลกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานไปด้วย
  • ตรวจสอบยาวถึงพ.ค.จ่ายเงินให้ย้อนหลัง
  • ยันมีเงินจ่าย5พันบาทแน่นอน

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า วันนี้(17เม.ย.) เป็นการประชุมนัดแรกร่วมกับปลัดจากกระทรวงต่างๆ จำนวน 10 กระทรวง อาทิ ปลัดกระทรวงเกษตร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เกี่ยวกับการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  จำนวน  4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ 2.กลุ่มประกันสังคม 3.เกษตรกร และ4. กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มคนพิการ คนชรา และผู้ที่ไร้บ้าน

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดูแนวทางช่วยเหลือกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมา คือกลุ่มคนพิการ คนชรา คนไร้บ้าน ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ไปดูแลนอกเหนือจากกลุ่มเกษตรกรด้วย เช่น กลุ่มปศุสัตว์ ประมง คนกรีดยาง เป็นต้น ว่าจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้อย่างไร  และนำแนวทางมาเสนอในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า

ขณะนี้กำลังดูกลุ่มที่ตกหล่นจากมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจำนวน 5,000 บาท 3 เดือน  เช่น นักศึกษาที่เรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  (กศน.) และทำงานไปด้วย กลุ่มนักศึกษาที่จบมานานแล้วและยังไม่มีงานทำ รวมถึงนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนกศน.แต่ทำงานระหว่างเรียนไปด้วย เช่น ทำอาชีพมัคคุเทศก์ เคยจบปริญญามาหลายใบแล้ว แต่ช่วงไม่มีงานก็กลับไปเรียนปริญญาอีกใบ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก็จะได้รับการช่วยเหลือ เป็นต้น

ทั้งนี้ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนในมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว จำนวน 27.5 ล้านคน  โดยมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วทั้งสิ้น ณ วันที่ 17 เม.ย.63 จำนวน 4 ล้านคน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถยืนทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20เม.ย.นี้  ส่วนวันที่ 22 เม.ย.นี้จะปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เยียวยาวันสุดท้าย

อย่างไรก็ตามคาดว่าอย่างช้าวันที่ 24 เม.ย.63 จะวิเคราะห์ข้อมูลผู้ที่ลงทะเบียนมาได้ทั้งหมด และถ้าข้อมูลที่ได้รับไม่ชัดเจน กระทรวงการคลังจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ไปดูสถานที่ประกอบอาชีพจริง ซึ่งถ้าหากการตรวจสอบในพื้นที่ล่าช้าถึงเดือนพ.ค.63  กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินย้อนหลังในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาให้ด้วยพร้อมกับเดือนพ.ค.63 รวมเป็น 10,000 บาท

สำหรับเงินพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท นั้นเป็นส่วนของมาตรการเยียวยาโควิด-19 จำนวน 600,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กระทรวงสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท และงบเยียวยา จำนวน 555,000 ล้านบาท  
ส่วนเงินที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเยียวยาในเดือนเม.ย.นี้ ใช้จ่ายจากงบกลาง 45,000 บาท ดังนั้นจึงมีเพียงพอสำหรับจ่ายให้ผู้ที่ลงทะเบียนและเดือดร้อนจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ถึง 9 ล้านคนแน่นอน  ส่วนในอีก 2 เดือนที่เหลือ พ.ค.-มิ.ย.63 จะต้องรองบประมาณจากพ.ร.บ.กู้เงิน