“ประกันรายได้เกษตรกร” ไม่ง่ายอย่างที่คิด

โรงสีลับมีดรอ เชือดคอชาวนาแบบนิ่มๆ

หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านความเห็นชอบของครม.ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้ตามมาติดๆกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร เล่นใหญ่ไฟกะพริบกันก่อนกับ 2 พืชหลักของประเทศคือปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ที่กก.ละ 4 บาท เปอร์เซ็นต์ให้น้ำมันอยู่ที่ 18% ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ วงเงินรวม 13,378 ล้านบาท

ส่วนอีกตัวคือข้าวประกาศประกันรายได้ให้กับชาวนาตามเกณฑ์ดังนี้

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิประกันรายได้ที่ตันละ 15,000บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14ตัน

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 14,000บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16ตัน

3.ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30ตัน

4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

5.ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

มีตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการนี้อยู่ที่ 21,495ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขประมาณการคร่าวๆ เพราะโครงการประกันรายได้ ไม่สามารถจะกำหนดงบประมาณที่ชัดเจนแน่นอนได้ เนื่องด้วยจะใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับราคาตลาดอ้างอิง หากราคายิ่งต่ำก็ต้องใช้งบประมาณมาก

แตกต่างจากโครงการรับจำนำข้าว ที่เกษตรกรจะได้รับเงินในราคารับจำนำเมื่อนำข้าวเข้าโครงการกับรัฐ อาจจะโดนหักเรื่องความชื้น สิ่งเจือปนไปบ้าง เช่น รัฐบาลประกาศราคารับจำนำอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท เมื่อนำข้าวเข้าโครงการหลังหักตามค่ามาตรฐานต่างๆอาจจะได้ประมาณตันละ 13,000 บาท เป็นต้น

ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรนั้น เกษตรกรจะขายข้าวให้โรงสีตามกระบวนการปกติ หลังจากนั้นรัฐบาลจะประกาศราคาตลาดอ้างอิงออกมา ราคาตัวนี้จะเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเกษตรกรว่าจะได้รับเงินเพิ่มจากที่ขายให้พ่อค้าอีกตันละเท่าไหร่ โดยจะนำราคาอ้างอิงไปเทียบกับราคาประกันรายได้ที่ประกาศไว้ เช่น รัฐประกาศราคาตลาดอ้างอิงข้าวเจ้าในช่วงเดือนต.ค.ที่ตันละ 9,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประกันที่รัฐบาลประกาศไว้อยู่ที่ 10,000 บาท

ดังนั้นเกษตรกรจะได้ส่วนต่างที่ตันละ 1,000 บาท ขายข้าวไปจำนวน 10 ตัน ก็จะได้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท ปัญหาที่สร้างความคาใจให้กับเกษตรกรสำหรับโครงการประกันรายได้สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ ราคาอ้างอิงที่รัฐประกาศออกมาไม่สะท้อนราคาตลาดที่แท้จริง เช่น เกษตรกรส่วนใหญ่ขายข้าวได้ในราคาตันละ 7,000 บาท แต่ภาครัฐกลับประกาศราคาตลาดอ้างอิงที่ตันละ 9,000 บาทเป็นต้น

ทำให้เกษตรกรได้รับเงินน้อยกว่าความเป็นจริงคือรวมแล้วได้ตันละ 8,000 บาท ไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลประกาศประกันราคาไว้ที่ตันละ 10,000 บาท สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก รัฐบาลมีงบประมาณอันจำกัด จะประกาศราคาตลาดอ้างอิงต่ำๆก็จะต้องจ่ายส่วนต่างสูง เป็นภาระงบประมาณอีก

จึงไม่ต้องแปลกใจหากไปถามเกษตรกรว่าชอบโครงการไหนมากกว่ากัน ระหว่าง “ประกันรายได้เกษตรกร” กับ “รับจำนำข้าว” แล้วคะแนนจะออกมาแบบชนะกันอย่างท่วมท้น

จุดอ่อนที่สำคัญของโครงการประกันรายได้เกษตรกรคือ พ่อค้าและโรงสีสามารถรวมหัวกันกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้อย่างสบาย เพราะเห็นว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็จะต้องอุ้มเกษตรกรอยู่ดี ได้ของถูกไปค้ากำไร โดยเกษตรกรเองได้แต่คาดหวังว่าจะมารับเงินส่วนต่างจากรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่วาดฝันเอาไว้จากปัญหาข้างต้น

และลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ บรรดาพ่อค้าโรงสีต่างก็ไม่ต้องการให้มีโครงการประกันรายได้ เพราะโครงการรับจำนำ ทำให้ตัวเองได้ผลประโยชน์ที่ดีกว่ามาก หากล้มโครงการประกันรายได้ แล้วได้โครงการรับจำนำกลับคืนมา โรงสีคงตีปีกกันพรึ่บพรั่บ งานนี้โรงสีพ่อค้าจึงได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่มีโครงการรับจำนำก็กดราคารับซื้อไปพลางก่อน

ทางออกคือ รัฐบาลจะต้องใจป้ำเพียงพอที่จะยอมประกาศราคาอ้างอิงตลาดที่ไม่ค้านความรู้สึกของชาวนา และตามมาด้วยการใช้กลไกขององค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ทำหน้าที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรถ่วงดุลตลาดกับพ่อค้า เพื่อฉุดราคาในตลาดขึ้นมา รัฐบาลเองจะได้ประหยัดงบประมาณ ขณะที่ชาวนาก็ไม่ถูกกดราคา

แต่ก็อย่างว่า ในอดีตทั้งอคส.และอ.ต.ก.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนบอบช้ำ สุดจะเยียวยา ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะแก้ทางอย่างไรในจุดนี้ ซึ่งถ้าไม่เตรียมทางหนีทีไล่ไว้เสียแต่เนิ่นๆรับรองมีบาดเจ็บกันพอสมควรกับประกันรายได้เกษตรกรรอบนี้

ลำพังแค่ตั้งอนุกรรมการระดับจังหวัดไปจับตาดูพ่อค้าไม่ให้กดราคาคงช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะมีแต่พวก “เขี้ยวลากดิน”ทั้งนั้น

คนชายขอบ
ขอบคุณภาพจากPixabay.com