บางจากนำออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม ลงนามไทยไรซ์นามา หนุนเกษตรกรทำตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ ขายคาร์บอนเครดิต



  • บางจาก นำ “ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม” ลงนามรับซื้อ “ข้าวลดโลกร้อน-ไทยไรซ์นามา”
  • พลิกโฉมเกษตรกรไทยหันปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพิ่มรายได้ ผลักดันซื้อขายคาร์บอนเครดิตจภาคเกษตร
  • ผ่าน Carbon Markets Club สร้างตลาดเติบโตอย่างยั่งยืน

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ลงนามความร่วมมือส่งเสริมข้าวลดโลกร้อนโครงการ “ไทยไรซ์ นามา:Thai Rice NAMA” และคาร์บอนเครดิตจากนาข้าวเปียกสลับแห้ง กับนายชาญวิทย์ ตรังอดิศัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด และ  นายถาวร คำแผง ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวชจ.สุพรรณบุรี จับมือกันส่งเสริมการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรมโดยจะรับซื้อข้าวลดโลกร้อน 40 ตัน ซึ่งกรรมวิธีการปลูกสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 30% เมื่อเทียบกับวิธีทำนาปกติ

กลุ่มบางจากจึงมุ่งสนับสนุนกลุ่มชาวนารักโลกซึ่งเปลี่ยนวิถีการทำนาจากดั้งเดิมมาใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเลเซอร์ปรับพื้นนา เพื่อทำนาเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นวิธีทำนาโดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางกลอยตากล่าวว่าบริษัท ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่บางจากฯ และบีซีพีจี จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรและเครือข่าย สร้างความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงศึกษาโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจในกลุ่มบริษัทบางจาก ผ่านการ “จัดหาและจำหน่าย” สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เชื่อมโยงกับการเกษตร วันนี้ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือส่งเสริมข้าวลดโลกร้อนเปียกสลับแห้ง พร้อมกับตั้งเป้ารับซื้อข้าวดังกล่าว 40 ตัน ในเดือนมิถุนายน 2566 จะนำมาเป็นสินค้าสมนาคุณลูกค้าตามสถานีบริการบางจาก ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก

บางจากฯ ยังมีแผนสนับสนุน “ซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรกรรม” ผ่าน Carbon Markets Club และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร ผ่านโครงการโซลาร์ปันสุขของมูลนิธิใบไม้ปันสุข

การลงนามในครั้งนี้มีผู้บริหารภาครัฐและเอกชนร่วมงานและหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้งพร้อมร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ถึง 7 หน่วยงาน คือ นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปริญญา กิตติการุญจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) นายฉัตรชัย ลอยบัณดิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)

นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) นายปุญชรัสมิ์ ปลั่งดี เกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร นางนิตยา รื่นสุข ที่ปรึกษานวัตกรรมการผลิตข้าว ด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กรมการข้าว นายไพรัช หวังดี ผู้จัดการภาคสนามอาวุโส โครงการ Thai Rice NAMA องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ผลิตข้าวลดโลกร้อนและกลุ่มบริษัทบางจาก ที่มาช่วยต่อยอดให้โครงการให้สำเร็จลุล่วงได้ผ่านบริษัทออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพราะการขยายองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกร เมื่อเกษตรกรทำแล้วเห็นประโยชน์จริงทำให้เกิดตลาดรองรับ สร้างรายได้ การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การทำนาเปียกสลับแห้ง หรือเรียกอีกชื่อว่า ทำนาแบบ 1 แห้ง 5 ประโยชน์ จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลงได้มาก ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27 เท่า

ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติภาคเกษตรกรรมจึงเป็นหนึ่งในกุญแจความสำเร็จต่อเป้าหมายของไทย ซึ่งตั้งเป้าเดินหน้าเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ปี ค.ศ. 2065

สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thai Rice NAMA – Nationally Appropriate Mitigation Action เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ของชาวนา โดยไม่ปล่อยให้น้ำขัง ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (พาดินไปหาหมอ) ไม่เผาฟางข้าว ใช้เลเซอร์ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกันเพื่อประสิทธิภาพการเพาะปลูก เป็นโมเดลการทำนาที่และเกษตรกรรมไทยจะก้าวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen