“บสย. เปิด 3 สูตร เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ ช่วยเอสเอ็มอีไทย

“สิทธิกร”​ เผย บสย. พร้อมช่วยค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อแปลงหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นสินเชื่อธุรกิจเพื่อรายย่อย

  • “พัก ลด ปลดหนี้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน”
  • ช่วยลูกหนี้ อยู่รอด อยู่ได้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า  บสย.  พร้อม“ค้ำประกันสินเชื่อ” ตามนโยบายโรัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมสนับสนุนช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ยึดหลักการทำงานเชิงรุก เปิดสูตร 3 เร่ง การบริหาร ก้าวไปข้างหน้าเพื่อ SMEsประการแรก ทำงานเชิงรุก สูตร 3 เร่ง “เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ”

“เร่งค้ำ” ผลดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สูตรการทำงานแบบเชิงรุกและมาตรการต่าง ๆ ทำให้ บสย. ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ช่วยค้ำประกันรวมกว่า 85,000 ล้านบาท จากโครงการค้ำประกัน บสย. SME เข้มแข็ง (PGS10) และ โครงการค้ำประกันดอกเบี้ยถูก (พรก.ฟื้นฟู ระยะที่ 2) สามารถช่วย SMEs และ รายย่อย (Micro SMEs) กลุ่มอาชีพอิสระ ได้มากกว่า 65,000 ราย ซึ่งขณะนี้ โครงการ บสย. SMEs เข้มแข็ง วงเงิน 50,000 ล้านบาท ใกล้เต็มจำนวน  

“เร่งพัฒนา” นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19  ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจหลายๆ ด้าน ดังนั้น บสย.จึงได้ขยายบทบาทการบริการ โดยจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน (บสย. FA Center) เพื่อยกระดับพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับคำแนะนำด้านการเงิน (Financial Literacy) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาหอกาค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อแนะนำการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน การปรับแผนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การคำนวณ สภาพคล่องและการแก้หนี้ ในรูปแบบหมอหนี้

“เร่งยกระดับ” ประกาศเป้าหมายยกระดับพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการพัฒนานวัตกรรม เชื่อมโยงโลกดิจิทัล กับ การค้ำประกันสินเชื่อ  สู่เป้าหมาย Digital SMEs Gateway เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้า บสย. กว่า 800,000 ราย เข้าถึงการบริการ บสย. ได้ง่ายขึ้น ผ่าน LINE Official Account @tcgfirst  รวมถึงเร่งผลักดัน SMEs อีก 3 ล้านรายที่อยู่นอกระบบ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบโดยเร็ว พร้อมการค้ำประกันของ บสย.ด้วย Digital Lending และ Digital Credit Guarantee

ประการที่ 2 โครงการ บสย.พร้อมช่วย เป็น มาตรการ 3 สี  ช่วยลูกหนี้ไม่ให้ล้ม และกลับมายืนได้  เรามุ่งมั่นช่วย SMEs เต็มที่ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องกลายเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระ เพิ่มขึ้น จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการนี้สามารถเข้าไปช่วยลูกหนี้ค้ำประกัน ของ บสย. ที่ต้องถูกเปลี่ยนสถานะ จากลูกหนี้ธนาคาร มาเป็นลูกหนี้ บสย.

โครงการ บสย. พร้อมช่วย มาตรการ 3 สี เริ่มขึ้นในปี 2565 มีเป้าหมายสำคัญคือ ให้ลูกหนี้  อยู่รอด อยู่ได้ และกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติของสถาบันการเงิน ช่วยลูกหนี้ลดผลกระทบ ช่วยพยุงกิจการที่กำลังจะล้มให้กลับมายืนได้ พัก ลด ปลดหนี้ SMEs ผ่อนน้อย เบาแรง เป็นมาตรการที่สร้างกำลังใจและความพึงพอใจให้กับบรรดาลูกหนี้ค้ำประกันของ บสย. จำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการ จากที่ไม่กล้าพูดคุยกับ บสย. เพราะขาดความเข้าใจในการปรับโครงสร้างหนี้ในเบื้องต้น จนยอมเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการ 3 สี

ปัจจุบัน โครงการ บสย. พร้อมช่วย ได้ช่วยลูกหนี้ค้ำประกัน มากกว่า10,000 ราย นับเป็นเม็ดเงินการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 4,400 ล้านบาท อีกทั้งเป็นโครงการที่ได้รับคำชื่นชมจากบรรดาลูกหนี้ บสย. จำนวนมาก เพราะได้ช่วยให้กลุ่ม SMEs ลูกหนี้ บสย. ที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ สามารถกลับมายืนได้อีกครั้ง

จุดเด่น ของมาตรการ 3 สี คือ “ตัดต้น ก่อนตัดดอก” อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด ร้อยล่ะ 0 ต่อปี ผ่อนยาว 7 ปี ค่างวดเริ่มต้น 500 บาท คืออีกหนึ่งกลไกการช่วยลูกหนี้ที่ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลาโครงการที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ บสย. ได้ต่อมาตรการนี้ออกไปอีก เพื่อช่วยให้ SMEs ลูกหนี้ ลูกหนี้  อยู่รอด อยู่ได้ และกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติของสถาบันการเงิน    

ประการสุดท้าย  บสย. เห็นว่ายังมีกลไกอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้ลูกหนี้ได้ ยกตัวอย่าง เช่น การแปลงหนี้ครัวเรือน ให้เป็นหนี้ธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ย โดยมี บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกัน โดยรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ  ไตรมาส 1 /2566 พบว่า หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากการจับจ่ายเพื่อการค้า และมาจากสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยสูง อาทิ ซื้อรถเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการ

ทั้งนี้หาก บสย. สามารถเข้าไปช่วยลดหนี้ในกลุ่มนี้ได้ โดยใช้แนวทางการแปลงหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นสินเชื่อธุรกิจเพื่อรายย่อย (Micro SMEs) น่าจะช่วยให้ภาระต้นทุนการเงินลดลง จากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเฉลี่ย 24% ต่อปี เหลือเพียง 10% ต่อปี และเมื่อมี บสย. ช่วยค้ำประกัน เชื่อว่าจะสามารถช่วย SME ที่ขาดหลักประกันให้กลับมามีสภาพคล่อง สามารถรักษาการจ้างงานต่อไป เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มความแข็งแกร่งต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน