บสย.ผนึก 18 ธนาคารค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 1.5 แสนลบ.

  • ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำถึง4% กู้ได้สูงสุดถึง 100 ล้านบาท
  • หวังให้เอสเอ็มอีไทยลดการการกู้หนี้นอกระบบ
  • มั่นใจยอดค้ำประกันโตถึงเป้า 100,000 ลบ.

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) กับสถาบันการเงิน 18 แห่ง ว่า โครงการนี้เป็นไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลไกลในการพัฒนาประเทศ จะต้องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ง่ายขึ้น  

โดยโครงการนี้สถาบันการเงินจะเป็นผู้ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน โดยให้ดอกเบี้ยต่ำถึง 4% ส่วนบสย.เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ

“บสย.ตั้งเป้าหมายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม150,000 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน และฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี โดยบสย.จะค้ำประกันสินเชื่อในอัตรา 30% ของวงเงินรวมทั้งหมด เพื่อให้ธนาคารมั่นใจในการพิจารณาเงินกู้ให้เอสเอ็มอีง่ายขึ้น และคาดว่าในปีนี้ยอดค้ำประกันสินเชื่อจะโตถึงเป้าหมาย 100,000 ล้านบาทแน่นอน”

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น ลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

            ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบสย. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 28 ปี บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 500,000 ราย คิดเป็นเงินกว่า 800,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ก่อไม่เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล มีประมาณ 38,000 ล้านบาท หรือ 8% ของเงินค้ำประกัน

อย่างไรก็ตามบสย.มั่นใจว่าโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 จะช่วยทำให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 43,000 ราย ทำให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 225,000 ล้านบาท และเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 687,000 ล้านบาท

              “ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 5.2 ล้านราย แต่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง ๆ เพียง 10% หรือ  1.2 ล้านรายเท่านั้น ยังเหลืออีก 4 ล้านราย ดังนั้นหากช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอีกทางหนึ่ง“

สำหรับ 18 สถาบันการเงินที่เอ็มโอยูกับบสย.อาทิ  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นต้น