บขส.จัดรถไม่อั้นรับคนเดินทางช่วงวันหยุดยาว!

บขส. จัดรถโดยสารวันละ 2,900 -3,000 เที่ยว รองรับประชาชนเดินทางช่วงวันหยุดยาว 13-16 ต.ค.นี้ ย้ำคุมเข้มมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมเอาใจสมาชิก บขส. Card จองตั๋วออนไลน์เดินทางวันหยุดรับคะแนนสะสมคูณสองทันที 

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล ประกาศให้วันที่ 14 ตุลาคม 65 เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ส่งผลให้ช่วงวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 – 16 ตุลาคม 65 ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวก บขส. ได้เตรียมความพร้อมจัดการเดินรถ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสาร เริ่มทยอยเดินทางออกจาก กรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 12 – 13 ตุลาคม 65 โดย บขส. ได้จัดรถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) เที่ยวไป ประมาณวันละ 2,900 เที่ยว คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ ประมาณวันละ 32,000 คน 

ส่วนการเดินทางกลับ ในวันที่ 16 – 17 ตุลาคม 65 ได้จัดรถโดยสารประมาณวันละ 3,000 เที่ยว คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ ประมาณวันละ 33,000 คน โดยคาดการณ์ว่า ปริมาณการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวนี้ จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการเดินทางในช่วงเวลาปกติ ทั้งนี้ปัจจุบัน บขส. เปิดให้บริการเดินรถในเส้นทางภาคเหนือ 19 เส้นทาง 54 เที่ยววิ่ง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก 23 เส้นทาง 68 เที่ยววิ่ง และเส้นทางภาคใต้ 16 เส้นทาง 43 เที่ยววิ่ง สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติม โทร Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

“บขส. มีช่องทางจองตั๋วเดินทางล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ Application E-Ticket, เว็บไซต์ www.transport.co.th ผู้โดยสารสามารถจองตั๋ว ได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสมาชิก บขส. Card เมื่อจองตั๋วช่องทางออนไลน์ เดินทางระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคม 2565 จะได้รับคะแนนสะสมคูณสองด้วย” ดร.สัญลักข์ กล่าว

นายสัญลักข์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บขส. ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถร่วม นำรถโดยสารมาสนับสนุนให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ และ ได้มีหนังสือขออนุญาตต่อ นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก นำรถโดยสารไม่ประจำทาง มาจัดเสริมในเส้นทางต่างๆ ประมาณ 110 คัน ส่วนในเที่ยวกลับได้ขอความร่วมมือจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้ประกอบการรถแท็กซี่ นำรถโดยสารมารับผู้โดยสาร บริเวณชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) พร้อมได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการรถร่วมที่นำรถโดยสารมาวิ่งจะต้องดำเนินการ ตามมาตรการ/วิธีการปฏิบัติสำหรับการเดินรถโดยสาร เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด