“น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

  • 22 มี.ค. วันน้ำโลก เชิญชวนทุกคนร่วมมือร่วมใจ
  • อนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
  • เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืนสืบไป

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มีนาคม 2566) เวลา 08.01 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า Facebook และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤตด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน และได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ

“นายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ร่วมกับภาคีหน่วยงานและองค์กร นักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่น ควบคู่กับการทำความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในการประชุมสหประชาชาติทบทวนการดำเนินงานด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดการประชุมระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา” 

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปี 2566 นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน